Monday, October 19, 2009

Apartheid (Apartness)

การถือผิว(การแยกสีผิว)

นโยบายอย่างเป็นทางการของประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ที่จะแยกคนต่างผิวออกจากกัน โดยใช้วิธีออกกฎหมายเลือกปฏิบัติอย่างเปิดเผย นโยบายนี้ได้ออกแบบมาเพื่อให้คนกลุ่มน้อยชาวยุโรปสามารถควบคุมรัฐนี้อยู่ตลอดกาล ทั้ง ๆ ที่ประชากรของแอฟริกาใต้ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 31 ล้านคนนั้น เป็นคนแอฟริกัน (ผิวดำ) ประมาณถึง 71 เปอร์เซ็นต์ เป็นคนยุโรป (ผิวขาว) แค่ 13 เปอร์เซ็นต์ คนผิวสี (เลือดผสม)13 เปอร์เซ็นต์ และคนเอเชีย 3 เปอร์เซ็นต์ ประเทศแอฟริกาใต้นี้ เป็นประเทศที่พัฒนาทางเศรษฐกิจแล้ว มีผลผลิตรายได้ประมาณหนึ่งในสามของรายได้รวมของทวีปแอฟริกา ทั้ง ๆ ที่มีพื้นที่เพียง 4 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทวีป และมีประชากรเพียง 6 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งทวีป

ความสำคัญ ความโหดร้ายทารุณของการปกครองโดยคนผิวขาวนี้ ได้นำไปสู่ความรุนแรงที่พร้อมจะ ระเบิดกลายเป็นการนองเลือดได้ทุกขณะ การคัดค้านจากภายนอกโดยการนำของประชาชาติแอฟริกัน-เอเชีย เป็นตัวกระตุ้นให้ต่างชาติเข้าแทรกแซง และทำให้สถานการณ์ในแอฟริกาใต้เป็นกระทู้สดในสหประชาชาติอยู่เสมอ ถึงแม้ว่านโยบายการแยกผิวนี้จะถูกประณามจากมติโลก แต่ทว่าความพยายามทั้งหลายทั้งปวงที่จะใช้การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อต้านนโยบายนี้ กลับล้มเหลวมาตลอด ความตึงเครียดทั้งภายในและภายนอกที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นี้ได้ทำการคุกคามสันติภาพทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลกด้วย

Charismatic Leadership

ภาวะผู้นำที่มีบารมี

ภาวะผู้นำที่มีลักษณะโดดเด่นเป็นพิเศษ คือ เป็นผู้มีบารมีเหมือนกับพระผู้มาโปรด สามารถได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างท่วมท้น และในขณะเดียวกันก็ได้รับการเคารพนบนอบจากประชาชนพร้อม ๆ กันด้วย ภาวะผู้นำที่มีบารมีนี้ มักจะมีแนวโน้มไปในทางที่จะผสมผสานเข้ากับความรู้สึกทางชาตินิยม และจะกลายเป็นเอกลักษณ์หรือเป็นสัญลักษณ์ของรัฐไปด้วย ผู้นำที่มีบารมีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชาติที่เกิดใหม่ทั้งหลาย ในสายตาของผู้ตามหรือผู้สวามิภักดิ์จะมีลักษณะเป็นตัวแทนของสัจธรรม เป็นผู้ไม่มีความหวั่นกลัวใด ๆ มีความทะเยอทะยานเหนือคนธรรมดาสามัญ และได้ถูกเลือกตัวให้มาชี้นำชะตากรรมของชาติ ภาวะผู้นำที่มีบารมีตามที่ว่ามานี้ สามารถพบได้ในบุคคลสำคัญ ๆ อย่างเช่น ยาวะหะลาล เนห์รู แห่งอินเดีย เหมาเจ๋อตุง แห่งจีน อดอล์ฟ ฮิตเล่อร์ แห่งเยอรมนี และอยาตอลลาห์ โคไมนี แห่งอิหร่าน เป็นต้น

ความสำคัญ ภาวะผู้นำที่มีบารมีนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่มักจะโยงใยไปถึงการสร้างชาติ และการเกิดความรู้สึกทางชาตินิยม จะปรากฏให้เห็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศที่กำลังพัฒนา ที่มีลักษณะพิเศษ คือคนไม่รู้หนังสือ มีความยากจน และไม่มีประเพณีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนเป็นหลักเป็นฐานอะไร ซึ่งในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ว่ามานี้ ภาวะผู้นำที่มีบารมีนี้ จะมีลักษณะเป็นคนดี เป็นบิดาของคนในชาติ อย่างไรก็ดี เมื่อการคาดหวังของประชาชนมีเพิ่มสูงขึ้นและมีการเรียกร้องความต้องการของคนต่อรัฐบาลมากขึ้น ๆ ก็จะเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้นำเหล่านี้หันไปหาค่านิยมแบบใช้อำนาจ และจะใช้วิธีนี้เข้าแก้ปัญหาต่าง ๆ และผลที่ติดตามมา ก็คือ เกิดระบบการปกครองแบบเผด็จการที่ยึดตัวบุคคลเป็นหลัก ครั้นเมื่อผู้ปกครองหันมาใช้มาตรการบีบบังคับมากขึ้น ๆ และเกิดการสูญเสียลักษณะสัญลักษณ์การเป็นผู้นำของการปฏิวัติไป ก็จะเกิดการรัฐประหารขึ้นมาล้มล้างอำนาจ อย่างที่เคยเกิดขึ้นในประเทศกานาและอินโดนีเซีย

Colonialism

ลัทธิล่าอาณานิคม

การปกครองดินแดนและประชากร โดยอำนาจอธิปไตยภายนอก เป็นการดำเนินนโยบายลัทธิจักรวรรดินิยม ในทางประวัติศาสตร์นั้น ลัทธิล่าอาณานิคมนี้มีอยู่หลัก ๆ 2 แบบคือ (1)ลัทธิล่าอาณานิคมที่มีการอพยพผู้คนจากประเทศเมืองแม่เข้าไปเป็นกลุ่มทางการเมืองใหม่ในดินแดนที่ห่างไกลไม่ได้มีพรมแดนติดกับเมืองแม่ และ (2) ลัทธิล่าอาณานิคมที่เข้าไปบังคับใช้กฎเกณฑ์การปกครองเหนือคนพื้นเมืองที่มีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีน้อยในทวีปเอเชียและแอฟริกา ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ตาม จะมีการตั้งอาณานิคมขึ้นมาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการทหาร ความก้าวหน้าทางการเศรษฐกิจและเกียรติภูมิระหว่างประเทศของมหาอำนาจเจ้าอาณานิคมนั้น

ความสำคัญ การต่อต้านสัมพันธภาพระหว่างผู้สูงส่งกับผู้ต่ำต้อย และลัทธิเหยียดผิวที่ปรากฏอยู่ในลัทธิล่าอาณานิคม ได้ก่อให้เกิดลัทธิชาตินิยมขึ้นในหมู่ประชาชนที่ตกเป็นอาณานิคมในทวีปเอเชีย และทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นพลังต่อต้านที่ยากจะต้านทานได้ในการเมืองโลกช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ ได้บ่งบอกออกมาให้คนพื้นเมืองได้เห็นว่าพวกจักรวรรดินิยมผิวขาวไม่มีคุณสมบัติยืนยงคงกระพันติดตัวมาแต่กำเนิดอย่างที่เคยคุยโวโอ้อวดต่อไปแล้ว ประจักษ์พยานในข้อนี้ก็คือการที่กองทัพญี่ปุ่นสามารถมีชัยชนะพวกผิวขาวชาวตะวันตกนี้ในช่วงต้น ๆ ของสงคราม นอกจากนี้แล้วพวกมหาอำนาจล่าอาณานิคมหลายชาติในเอเชียต่างเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าในสงครามครั้งนี้ไปตาม ๆ กัน จึงได้สมัครใจที่จะมอบเอกราชให้แก่อาณานิคมเหล่านี้ หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องยอมให้เอกราชเนื่องเพราะผลมาจากการใช้ความรุนแรงเข้าต่อต้านของพวกคนพื้นเมือง ขบวนการเรียกร้องเอกราชต่างก็ได้เกิดขึ้นโดยมีแรงกระตุ้นมาจากหลักการทั้งหลาย ที่ระบุอยู่ในปฏิญญาว่าด้วยดินแดนที่ยังไม่ได้ปกครองตนเองของกฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งได้ใช้เป็นข้ออ้างเป็นความชอบธรรมที่จะเรียกร้องเอกราช เมื่อถึง ค.ศ. 1960 ได้เกิดชาติใหม่ ๆ ขึ้นมาทำให้สหประชาชาติมีสมาชิกเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นสองเท่าตัว จึงช่วยให้การโจมตีต่อลัทธิล่าอาณานิคมมีพลังเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ในปีเดียวกันนี้เองสมัชชใหญ่สหประชาชาติได้ยอมรับปฏิญญาว่าด้วยการให้เอกราชแก่ประเทศอาณานิคมและประชาชนในอาณานิคมนั้น ๆ และในปีถัดมา สมัชชาฯ นี้ก็ได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการพิเศษว่าด้วยการปลดปล่อยอาณานิคมเพื่อทำให้หลักการเหล่านี้เป็นจริงขึ้นมาให้จงได้ กระแสของขบวนการเรียกร้องเอกราชนี้ได้เริ่มขึ้นในเอเชียแล้วก็ได้ไหลบ่าเข้าสู่ทวีปแอฟริกา เมื่อช่วงปลายทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1950 และในช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ.1960 ซึ่งก็ได้ส่งผลให้มีชาติเกิดขึ้นมาใหม่ในระบบรัฐอีกจำนวนมาก ดินแดนของโปรตุเกส คือ แองโกลา และโมแซมบิก ดินแดนของโปรตุเกส คือ กินี ตลอดจนดินแดนในอาณัติของสันนิบาตชาติ คือ แอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้ (นามิเบีย) ต่างก็ได้ตกเป็นเป้าหมายสำคัญของความพยายามที่จะปลดปล่อยอาณานิคมของสันนิบาตชาติ เมื่อรัฐที่อดีตเคยเป็นอาณานิคมเหล่านี้ มีจำนวนมากเป็นประเทศส่วนใหญ่ในสมัชชาใหญ่ ก็ได้ช่วยกันหันเหความสนใจของสหประชาชาติไปสู่ปัญหาของการพัฒนาทางการเมือง การสังคม และการเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี แนวความคิดเกี่ยวกับลัทธิล่าอาณานิคมแบบใหม่ ที่กลัวว่าชาวตะวันตกจะกลับมายึดอาณานิคมใหม่ได้ก่อให้เกิดการประดักประเดิดในหมู่ประเทศที่เกิดใหม่เหล่านี้ คือ เมื่อประเทศเหล่านี้ต้องการความช่วยเหลือจากอดีตเจ้าอาณานิคมของตน แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการให้อดีตเจ้าอาณานิคมเหล่านี้เข้ามาแทรกแซงในกิจการภายในของพวกตน กระนั้นก็ตาม การเปลี่ยนแปลงคนมากกว่าพันล้านคน และดินแดนอาณานิคมอีกหลากหลาย ให้ได้รับเอกราชและได้เป็นรัฐที่สมบูรณ์แบบนี้ ได้เป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทว่าการได้เอกราของชาติเกิดใหม่เหล่านี้ ก็มักจะเป็นผลให้คนหมู่มากทำการบีบบังคับให้ชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ยอมรับอธิปไตยของรัฐใหม่ไปด้วยโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ปัญหาของคนกลุ่มน้อยที่อยู่ตามรัฐที่เกิดขึ้นใหม่นี้ มีผลกระทบต่อสันติภาพและเสถียรภาพระหว่างประเทศตามส่วนต่าง ๆ ของโลก อย่างเช่น ในตะวันออกกลาง (คือพวกปาเลสไตน์) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (คือพวกเขมร) และในอีกหลายรัฐที่เกิดใหม่ในทวีปแอฟริกา

Dependent Territory : Colony

ดินแดนที่ไม่ได้ปกครองตนเอง : อาณานิคม

การถือครองดินแดนที่อยู่ห่างไกลของรัฐที่มีอำนาจอธปไตย อาณานิคมนี้จัดตั้งขึ้นมาได้โดยการตั้งนิคม การยกให้และการพิชิต การได้มาซึ่งอาณานิคมนี้บ่งบอกว่า เป็นการดำเนินนโยบายจักรวรรดินิยมที่ประสบความสำเร็จ ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ดินแดนส่วนใหญ่ของทวีปเอเชียและดินแดนเกือบจะทั้งหมดของทวีปแอฟริกาได้ถูกเฉือนแบ่งกันเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยียม เยอรมนี อิตาลี สเปน โปรตุเกส และเนเธอร์แลนด์ อาณานิคมนี้แตกต่างจากดินแดนที่ไม่ได้ปกครองตนเองอื่น ๆ เช่น ดินแดนในอารักขา ดินแดนในเขตอิทธิพล และดินแดนที่เช่ามา ตรงที่เจ้าอาณานิคมมีอธิปไตยเต็มที่เหนืออาณานิคม

ความสำคัญ อาณานิคมมีประโยชน์แก่เจ้าอาณานิคม คือ เป็นตลาดสำหรับขายสิ่งประดิษฐ์ เป็นแหล่งวัตถุดิบและเป็นแหล่งการลงทุน เป็นที่ตั้งทางยุทธศาสตร์และเป็นแหล่งกำลังพลที่จะใช้ป้องกันประเทศ และเป็นสัญลักษณ์แห่งเกียรติภูมิ และเป็นที่เชิดหน้าชูตาในฐานะเป็นมหาอำนาจ อย่างไรก็ดี ในกระบวนการรักษาและบริหารอาณานิคมของตน ๆ นั้น เจ้าอาณานิคมได้ทำให้ประชาชนที่อยู่ในปกครองสามารถอ่านออกเขียนได้ ได้รับการศึกษา มีความสามารถที่จะเปรียบเทียบสภาพของตนกับสังคมอื่น ๆ ในโลก และก็ยังได้นำลัทธิชาตินิยมมาด้วย ซึ่งทำให้เกิดความไม่พอใจกับสถานภาพที่ต่ำต้อยของตน นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา อาณานิคมเกือบจะทั้งหมดต่างก็ได้เป็นรัฐเอกราชไปตาม ๆ ทั้งนี้โดยการเจรจาอย่างสันติกับประเทศเจ้าอาณานิคม โดยการใช้กำลัง หรือว่าโดยการประสานกันระหว่างสองอย่างนั้น

Dependent Territory : Leasehold

ดินแดนที่ไม่ได้ปกครองตนเอง : ดินแดนเช่ามา

ดินแดนที่ถูกใช้สอยโดยรัฐต่างประเทศ ภายใต้ข้อตกลงให้เช่ากับเจ้าอธิปไตยแห่งดินแดนนั้น การเช่านี้อาจจะเป็นการเช่าในช่วงเวลาสั้น ๆ หรือเป็นการเช่าช่วงยาวนานก็ได้ การที่ผู้เช่าจะมีอำนาจเหนือดินแดนที่เช่ามากน้อยเพียงใดนั้น ก็จะมีการกำหนดไว้ในข้อตกลงเฉพาะเป็นกรณี ๆ ไป ข้อตกลงให้เช่านี้ บางทีก็ทำกันโดยอิสระด้วยความสมัครใจ แต่บางทีก็ใช้วิธีบังคับมากบ้างน้อยบ้าง ด้วยเทคนิควิธีการเช่านี่เองที่ทำให้มหาอำนาจสำคัญ ๆ ในทวีปยุโรปได้สิทธิทางการค้าในจีนในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19

ความสำคัญ การให้เช่าดินแดนนี้ เป็นการผ่อนปรนแก่ต่างชาติ จึงเป็นที่มาของความตึงเครียดและความขัดแย้งในยุคลัทธิชาตินิยมกำลังระบาดอยู่นี้ ตัวอย่างของการเช่าดินแดนแบบนี้ ได้แก่ อังกฤษเช่าเกาะเกาลูนซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเกาะฮ่องกง และสหรัฐอเมริกาเช่าอ่าวกวนตานาโมในคิวบา ในความเห็นของพวกชาตินิยมเห็นว่า การให้ต่างชาติเช่าเช่นนี้ เป็นการจำกัดสิทธิในการใช้อธิปไตยเหนือดินแดน และเป็นการส่อแสดงถึงความสัมพันธ์แบบผู้สูงส่งกับผู้ต่ำต้อยซึ่งยอมรับไม่ได้

Dependent Territory : Protectorate

ดินแดนที่ไม่ได้ปกครองตนเอง : ดินแดนในอารักขา

สัมพันธภาพระหว่างรัฐที่เข้มแข็งกับรัฐกึ่งเอกราช หรือดินแดนหรือประชาชนที่ยังมิได้มีการรับรองว่าเป็นรัฐ ดินแดนในอารักขานี้ สามารถทำได้โดยวิธีสมัครใจ และโดยใช้กำลังบังคับ แต่โดยปกติแล้วเป็นการกระทำเพื่อสกัดกั้นผลประโยชน์ของรัฐที่สาม หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในดินแดนที่ยังไม่มีรัฐบาลใดรับผิดชอบ คำว่า "ดินแดนในอารักขา" นี้ ยังหมายถึงประเทศนั้นตกอยู่ภายใต้การอารักขาก็ได้ ส่วนการที่รัฐต่างประเทศจะสามารถใช้อำนาจอธิปไตยในดินแดนอารักขาได้มากน้อยเพียงใดก็จะถูกควบคุมโดยสนธิสัญญาที่ลงนามกันระหว่างคู่สัญญา

ความสำคัญ ดินแดนในอารักขานี้ เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่รัฐที่มีอำนาจมาก ๆ สามารถควบคุมดินแดนอื่นโดยที่ไม่ต้องผนวกดินแดนนั้นจริง ๆ โดยปกติแล้ว ผู้อารักขาอย่างน้อยที่สุดก็จะทำการควบคุมในกิจการต่างประเทศและในการป้องกันประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และในช่วงต้น ๆ คริสต์ศตวรรษที่ 20 ฝรั่งเศสได้สถาปนาดินแดนในอารักขาเหนือตูนิเซีย และดินแดนต่าง ๆ ในโมรอคโค ส่วนอังกฤษก็ได้ทำข้อตกลงแบบเดียวกันนี้กับอียิปต์ ญี่ปุ่นทำกับเกาหลี และสหรัฐอเมริกาก็ทำกับคิวบา อังกฤษต้องการจะรักษาความสงบเรียบร้อย จึงได้จัดการอารักขาขึ้นในดินแดนต่าง ๆ ที่อยู่ติดกับอาณานิคมของตนในแกมเบียและเซียร์รา ลีออง ดินแดนในอารักขาเหล่านี้ได้หายไปอย่างรวดเร็วในยุคที่เกิดลัทธิชาตินิยมขึ้นมา ซึ่งทำให้ผู้คนทั้งหลายไม่ยอมรับสถานภาพตกเป็นเบี้ยล่างนี้อีกต่อไป

Dependent Territory : Sphere of Influence

ดินแดนที่ไม่ได้ปกครองตนเอง : เขตอิทธิพล

ดินแดนที่ถูกครอบงำโดยผลประโยชน์แห่งชาติของมหาอำนาจต่างชาติ ในเขตอิทธิพลที่ว่านี้ มหาอำนาต่างชาติมิได้มีอธิปไตยเพียงแต่ได้ยัดเยียดภาวะจำยอมระหว่างประเทศให้ ซึ่งก็ไปจำกัดการใช้อธิปไตยเหนือดินแดนของรัฐเจ้าอธิปไตยท้องถิ่นมิให้ใช้ได้โดยอิสระ ภาวะจำยอมนี้อาจจะมีลักษณะเชิงบวก คือ เป็นแบบที่รัฐผู้มีอำนาจได้รับสิทธิในการผูกขาดผลประโยชน์ทางการค้า หรืออาจจะมีลักษณะเป็นเชิงลบ คือ แบบที่รัฐอ่อนแอถูกกำหนดให้งดเว้นจากการสร้างแนวป้องกันตามแนวพรมแดน เป็นต้น

ความสำคัญ เขตอิทธิพลนี้ สามารถสร้างขึ้นมาโดยการตกลงกับเจ้าอธิปไตยเหนือดินแดนนั้นหรือไม่ก็ได้ แต่ตามปกติแล้ว เขตอิทธิพลนี้ รัฐที่สามจะยินยอมให้สร้างขึ้นมาได้นั้น จะต้องมีอะไรมอบให้เป็นการแลกเปลี่ยนกัน ในทำนอง "หมูไปไก่มา" นั่นก็หมายถึงว่าเป็นการรับรองความเป็นใหญ่ของรัฐใดรัฐหนึ่งในภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง และเป็นการตกลงที่จะไม่แทรกแซงในดินแดนส่วนนั้น ๆ ของรัฐที่อ่อนแอเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติตน เขตอิทธิพลนี้อาจจะถูกสถาปนาขึ้นมาแล้วได้รับการรับรองเป็นทางการ เช่นกระทำในรูปของสนธิสัญญาก็ได้ อังกฤษกับรัสเซียได้ทำการตกลงกันเมื่อปี ค.ศ. 1907 ที่จะรับรองเขตอิทธิพลของกันและกันในดินแดนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทางเหนือของเปอร์เซีย (อิหร่าน) ในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19 อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น และรัสเซีย ได้สร้างเขตอิทธิพลขึ้นในประเทศจีน คำว่า”เขตอิทธิพล"นี้ก็ยังมีการนำไปใช้เมื่อพูดถึงดินแดนที่รัฐใดรัฐหนึ่งสามารถขยายอำนาจครอบงำเข้าไปได้ อย่างเช่น ในกรณีของสหรัฐอเมริกาในดินแดนแถบคาริบเบียน จีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสหภาพโซเวียตในยุโรปตะวันออก

Ethnocentrism

ความรู้สึกว่าพวกเราดีกว่าพวกเขา

ความเชื่อว่า กลุ่มตนและวัฒนธรรมของตน มีความสูงส่งกว่ากลุ่มอื่นและวัฒนธรรมอื่นทั้งปวง ความเชื่อแบบที่ว่านี้เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมในระดับสากลที่ทำการแบ่งแยก "พวกเรา" ออกไปจาก”พวกเขา" เป็นปรากฏการณ์ที่เน้นย้ำถึงข้อแตกต่างระหว่างสังคมต่าง ๆ ระหว่างค่านิยมของสังคมต่าง ๆ และระหว่างรัฐต่าง ๆ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของค่านิยมเหล่านั้น ค่านิยมกลุ่ม "พวกเรา" เป็นมาตรฐานที่นำมาใช้เป็นเครื่องตีค่ากลุ่ม "พวกเขา" และเนื่องจากว่า "พวกเขา" มีความแตกต่างกันไปโดยนิยามนี้จึงเป็นพวกต่ำต้อย

ความสำคัญ ความรู้สึกว่าพวกเราดีกว่าพวกเขาไม่ใช่ลัทธิชาตินิยม แต่ทว่าลัทธิชาตินิยมเป็นลักษณะโดดเด่นและเป็นระบบที่มีอันตรายอย่างยิ่งของความรู้สึกว่าพวกเราดีกว่าพวกเขา ในโลกยุคใหม่นี้ ความรู้สึกว่าพวกเราดีกว่าพวกเขา จะกำหนดค่านิยมประจำชาติตนว่าเป็นค่านิยมสูงสุด คือถ้าเป็นสัจธรรมของชาติตนก็เป็นสัจธรรมที่สูงสุด ถ้าเป็นความงามของชาติตนก็เป็นความงามสูงสุด ถ้าเป็นหลักศีลธรรมจริยธรรมของชาติตนก็เป็นหลักศีลธรรมจริยธรรมสูงสุด และถ้าเป็นความยุติธรรมของชาติตนก็เป็นความยุติธรรมที่สูงสุด นอกจากนี้แล้วก็ยังตั้งเป็นข้อสมมติฐานขึ้นว่าด้วยว่า ค่านิยมต่าง ๆ ของชาติตนนี้สามารถนำไปใช้ได้ทั่วโลก ความรู้สึกดังที่ว่ามานี้จึงมีลักษณะปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้คนและชาติต่าง ๆ เป็นผลผลิตของสภาพแวดล้อมและประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน และเมื่อมีการตั้งข้อสมมติฐานไว้แตกต่างกันก็ย่อมจะได้บทสรุปที่แตกต่างกัน ข้อนี้เป็นความจริงชัดแจ้งอยู่ในตัวแล้วไม่จำเป็นต้องอธิบาย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อพูดถึงคำว่า "ประชาธิปไตย" เนื่องจากคนแต่ละชาติมีประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน เมื่อคนอเมริกันได้ยินอาจจะนึกถึงระบบการปกครองที่ยึดหลักปัจเจกชนนิยม แต่คำเดียวกันนี้หากพูดกับคนรัสเซีย อาจจะหมายถึงระบบการปกครองที่รัฐเข้าควบคุมกิจการทุกอย่างก็ได้ เพราะฉะนั้น อันตรายร้ายแรงในระดับระหว่างประเทศที่มีอยู่ในความรู้สึกทางชาตินิยมแบบพวกเราดีกว่าพวกเขานี้ ก็อยู่ตรงที่จะทำให้ไม่สามารถเข้าใจความต้องการของรัฐอื่น ๆ และก็จะทำให้ดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบสัจนิยมได้

Imperialism

จักรวรรดินิยม

สัมพันธภาพในแบบผู้สูงส่งกับผู้ต่ำต้อย ในที่ซึ่งดินแดนและประชาชนตกเป็นเบี้ยล่างอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐต่างประเทศ จักรวรรดินิยมนี้สามารถสืบสาวถึงลำดับขั้นตอนของการพัฒนาของมันขึ้นมาในโลกสมัยใหมได้หลายช่วงด้วยกัน ในช่วงแรก ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาคร่าว ๆ ตั้งแต่การเดินทางสำรวจของโคลัมบัสจนกระทั่งสงครามเจ็ดปียุติลงในปี ค.ศ. 1763 จักรวรรดินิยมขั้นตอนนี้เป็นผลมาจากการเกิดขึ้นของระบบประชารัฐในยุโรป ตลอดจนถึงการเกิดปรัชญาเศรษฐกิจแบบลัทธิพาณิชยนิยม และลัทธิคลั่งศาสนาที่ต้องการให้ศาสนาคริสต์เผยแพร่ไปยังที่ต่าง ๆ ในช่วงเวลานี้ พื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกใหม่ทางซีกโลกในภาคตะวันตก ได้ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของพวกยุโรป โดยวิธีพิชิตและสร้างอาณานิคมขึ้นมา ส่วนในทวีปเอเชีย พวกที่นำกระแสของลัทธิจักรวรรดินิยมเข้ามา ก็คือ บริษัทต่าง ๆ ที่ทำการค้าโดยการว่าจ้างของรัฐต่าง ๆ ในยุโรป ในช่วงที่สอง คือ ช่วงตั้งแต่ ค.ศ. 1763 ถึงประมาณ ค.ศ.1870 การขยายตัวของลัทธิจักรวรรดินิยมมีน้อย ทั้งนี้เพราะพวกยุโรปมัววุ่นอยู่กับการพัฒนาลัทธิชาตินิยมแบบเสรีและการปฏิวัติอุตสาหกรรม ช่วงที่สาม คือ ช่วงตั้งแต่ ค.ศ. 1870 ถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นช่วงที่กระแสคลื่นของลัทธิจักรวรรดินิยมได้ไหลบ่าเข้าไปทั่วทวีปแอฟริกาและพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคตะวันออกไกล ในช่วงเวลานี้ รัฐอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต่างสนองตอบต่อการแข่งขันที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นในการค้าระหว่างประเทศ โดยการแสวงหาตลาดสำหรับขายสินค้าของตนตลอดจนแหล่งวัตถุดิบต่าง ๆ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ลัทธิจักรวรรดินิยมได้ถึงภาวะสูงสุดแล้วเริ่มเสื่อมลง ๆ แต่พอถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เกิดกระบวนการกำจัดจักรวรรดิต่าง ๆ ที่มีกระแสรุนแรงมาก เพราะเขาเห็นกันว่า เรื่องจักรวรรดินิยมนี้เป็นเรื่องเลวร้าย ในการดำเนินโยบายจักรวรรดินิยมต้องเสียค่าโสหุ้ยแพงขึ้นมามาก และก็ยังได้เกิดกระแสลัทธิชาตินิยมไหลบ่าเข้ามาในทวีปเอเชียและทวีแอฟริกา แรงจูงใจให้เกิดลัทธิจักรวรรดินิยมนี้ มีความแตกต่างกันไปตามกาลเวลาและตามชาติที่มามีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เมื่อว่าโดยหลักใหญ่ ๆ แล้วมีดังนี้คือ (1) ความจำเป็นทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ ต้องการหาตลาด หาวัตถุดิบ และหาทอง กับมีการนำการค้ามาบังหน้าเพื่อยึดดินแดนเป็นอาณานิคม (2) ความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวคือ ที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ วัสดุต่าง ๆ และกำลังพล (3) เกียรติภูมิ ได้แก่ การได้รับการยกย่องเชิดหน้าชูตาว่า "ชะตากรรมที่ปรากฏ”(เป็นเกียรติภูมิของสหรัฐฯในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่เชื่อว่าการขยายดินแดนเป็นชะตากรรมที่พระเจ้ากำหนดมาให้) "สถานที่ในพระอาทิตย์"(เป็นเกียรติภูมิที่จะขยายดินแดนเข้าไปในดินแดนที่มีชัยภูมิดี) "พระอาทิตย์ไม่เคยตกดินที่จักรวรรดิอังกฤษ" และ (4) มนุษยธรรมนิยม คือ ความคิดที่มุ่งส่งเสริมหรือยกระดับคุณธรรมในหมู่มนุษย์ เพื่อให้สังคมมนุษย์พ้นจากความทุกข์และให้มีความสุขสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยกระทำในรูปกิจกรรมเผยแพร่ศาสนายึดหลัก "ภาระของคนผิวขาว" และภาระในการสร้างความศิวิไลซ์ให้แก่คนพื้นเมืองทั้งในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา

ความสำคัญ ลัทธิจักรวรรดินิยมได้ทำการเผยแพร่แนวความคิด อุดมคติ และอารยธรรมทางวัตถุของโลกซีกตะวันตกเข้าไปยังทุกส่วนของโลก พวกจักรวรรดินิยมได้ตักตวงเอาผลประโยชน์ต่าง ๆ ออกไปจากดินแดนอาณานิคมต่าง ๆ มากมายก็จริงอยู่ แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ได้เข้ามาปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ตลอดจนได้นำทัศนคติต่าง ๆ เข้ามาในอาณานิคมและได้ทิ้งสิ่งเหล่านี้ไว้เบื้องหลังเมื่อจากไป เป็นต้นว่า การศึกษา การอนามัย กฎหมาย และการปกครอง ซึ่งล้วนแต่มีความสัมพันธ์กับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ คือ การสร้างชาติ และการปฏิวัติการคาดหวังที่มีกระแสพุ่งขึ้นมาในหมู่ของประชาชน แต่พอถึงปัจจุบัน คำว่า"ลัทธิจักรวรรดินิยม"นี้ เป็นแนวความคิดที่ใช้ในลักษณะที่เคลือบแฝงด้วยอารมณ์ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลายจนเดี๋ยวนี้ยากที่จะให้คำจำกัดความและนำไปใช้ นับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา คำว่า ลัทธิจักรวรรดินิยม เป็นคำที่ใช้ในเวลาที่จะประณามกันระหว่างสหรัฐอเมริกา กับสหภาพโซเวียต และสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลที่เกิดใหม่ในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกาใช้คำนี้กับอดีตเจ้าอาณานิคมของตน และแม้กระทั่งประเทศที่กำลังพัฒนาจะใช้คำนี้อีกเหมือนกัน เมื่อเกิดความไม่พอใจที่ตนต้องพึ่งพาอาศัยทางเศรษฐกิจต่อประเทศอุตสาหกรรม ในสัมพันธภาพทางการเมืองระหว่างประเทศนั้น เป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีรัฐหนึ่งมีอำนาจและความโดดเด่นมากกว่าอีกรัฐหนึ่ง และสามารถจะใช้อิทธิพลของตนในกิจการทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง ทางทหาร และทางวัฒนธรรมของอีกรัฐหนึ่งได้ แต่ทว่าเพียงการที่รัฐหนึ่งเข้มแข็งกว่าอีกรัฐหนึ่งนั้น มิได้ทำให้เกิดสัมพันธภาพแบบเจ้าจักรวรรดิกับลูกน้องแต่อย่างใด จะเกิดสัมพันธภาพแบบนี้ขึ้นมาได้ ต่อเมื่อรัฐที่เข้มแข็งกว่านั้นใช้กำลังเข้าบังคับทำการสถาปนาการปครองของตนเหนือรัฐที่อ่อนแอกว่า โดยฝืนความรู้สึกของรัฐที่อ่อนแอนั้น แต่ด้วยเหตุที่ศัพท์ว่า"จักรวรรดินิยม" ได้ถูกนำไปใช้กันเสียเปรอะไปหมด ทั้งในแง่ของแรงจูงใจ แง่นโยบาย และแง่สถานการณ์หลากหลาย โดยนักโฆษณาชวนเชื่อและนักเผยแพร่อุดมการณ์ จึงทำให้ศัพท์ ๆ นี้สูญเสียประโยชน์ที่จะนำไปใช้ในการวิเคราะห์การเมืองไปมาก
ทีเดียว

Imperialism, Cultural

จักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรม

การบังคับใช้อุดมการณ์หรืออารยธรรมต่างชาติต่อสังคมที่ไม่เต็มใจจะรับ จักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรมที่เป็นนโยบายซึ่งรัฐบาลหนึ่งบังคับใช้ค่านิยมของตนต่ออีกรัฐบาลหนึ่งนั้น มีลักษณะแตกต่างจากการขยายอิทธิพลทางวัฒนธรรมของต่างชาติ อันเป็นผลมาจากการค้า การท่องเที่ยวและติดต่อสื่อสาร พวกผู้นำชาติ(นิยม)ซึ่งไม่ชอบหรือกลัวอิทธิพลจากต่างชาติ อาจจะบอกว่าอิทธิพลทางวัฒนธรรมเหล่านั้นเป็นจักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรม แต่การกล่าวอย่างนั้นถือได้ว่าเป็นการใช้ศัพท์นี้เป็นเครื่องมือสำหรับการโฆษณาชวนเชื่อ หาได้ใช้เป็นเครื่องมือของการวิเคราะห์ในเชิงปรวิสัยไม่ (เว้นเสียแต่ว่าจะสามารถแสดงออกมาให้เห็นได้ถึงเจตนาของรัฐบาลต่างชาตินั้น)

ความสำคัญ จักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรมนี้ อาจจะกระทำในรูปของการเตรียมการเพื่อที่จะครอบงำอย่างมีประสิทธิผลและยั่งยืนถาวรไปเลย ซึ่งแบบนี้ก็จะมีการทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิมไปเสียส่วนใหญ่และไม่หลงเหลือไว้ให้เป็นทางเลือกของผู้คนอีกต่อไป ด้วยเหตุที่ว่า ภาษาเป็นพาหะขั้นพื้นฐานที่ใช้สำหรับเพื่อการแสดงออกถึงวัฒนธรรม และ"เป็นสัจธรรมที่มีประจักษ์พยานในตัว" ภาษาจึงเป็นอาวุธอย่างแรกของจักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรม เมื่อคนที่ตกอยู่ในบังคับของรัฐอื่นถูกบังคับให้ต้องเรียนภาษาใหม่ ไม่ว่าจะเรียนเพื่อให้ได้มีงานทำหรือเพื่อได้รับการศึกษาอะไรก็ตามที คนเหล่านี้ก็จะค่อย ๆ มีจิตใต้สำนึกยอมรับแนวความคิดและค่านิยมต่าง ๆ ที่มีอยู่ในภาษาใหม่ที่ตนเล่าเรียนอยู่นั้น ในขณะเดียวกัน ที่เคยได้อาศัยภาษาเดิมเป็นพาหะสำหรับวัฒนธรรมของตนก็ไม่ต้องอาศัยอีกต่อไป เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วสิ่งต่าง ๆ ของวัฒนธรรมที่สามารถถ่ายทอดได้โดยผ่านทางภาษาดั้งเดิมเพียงภาษาเดียวก็ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ก็สูญไปสิ้น อย่างไรก็ดี หากเป็นกรณีที่ผู้รับภาษาใหม่ได้ต้อนรับค่านิยมต่างชาติบางอย่างมาด้วย อย่างเช่นในกรณีของญี่ปุ่นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 หรือในกรณีของ เคมาล อตะเติร์ก ในตุรกี หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 หรืออย่างในกรณีของผู้คนอีกมากมายที่กำลังมีประสบการณ์การปฏิวัติความคาดหวังสูงขึ้นเรียนรู้ภาษาใหม่ ๆ อยู่ในทุกวันนี้ ไม่เรียกว่าเป็นจักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรมแต่อย่างใด

Imperialism, Economic

จักรวรรดินิยมทางเศรษฐกิจ

การผูกพันประเทศหนึ่งเข้ากับเศรษฐกิจของอีกประเทศหนึ่ง เป็นการผูกพันมากถึงขนาดที่จะเป็นอันตรายต่ออธิปไตยของรัฐหลังนั้น จักรวรรดินิยมทางเศรษฐกิจนี้ อาจจะเป็นผลมาจากนโยบายที่ได้จงใจวางขึ้นไว้ หรืออาจจะเนื่องมาจากการไหลเข้าของเงินทุนจากการลงทุนของภาคเอกชนจากต่างประเทศ สหภาพโซเวียตเคยเข้าครอบงำเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปตะวันออกนับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เนื่องจากมีการกระทำผ่านรัฐที่เข้าคุมทุกสิ่งทุกอย่างในรัฐนั่นเอง ส่วนการควบคุมโดยอ้อมนั้น ก็คือ ที่สหรัฐอเมริกาใช้ "การทูตดอลลาร์" ในดินแดนแถบคาบสมุทรคาริบเบียนเมื่อตอนต้น ๆ ของศตวรรษที่ 20 เศรษฐกิจกับจักรวรรดินิยมทั้งสองอย่างนี้มีความสัมพันธ์กันมาโดยมีหลักฐานปรากฏชัดนับตั้งแต่ยุคลัทธิพาณิชยนิยม ทฤษฎีสมัยใหม่ที่ได้รับการพัฒนาเป็นอย่างดีเป็นครั้งแรก คือ ทฤษฎีที่พัฒนาโดยนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ชื่อ จอห์น ฮอบสัน เมื่อ ค.ศ.1902 ในหนังสือของเขาชื่อ จักรวรรดินิยม ฮอบสันได้อธิบายจักรวรรดินิยมในแง่ของการหาตลาดและโอกาสในการลทุนแห่งใหม่ ๆ แนวความคิดของฮอบสันนี้ยังมีอิทธิพลต่อ วี.ไอ เลนิน ในการพัฒนาทฤษฎีของคอมมิวนิสต์ว่าด้วยจักรวรรดินิยมของพวกนายทุน ในหนังสือของเขาชื่อ จักรวรรดินิยม : ขั้นตอนสูงสุดของลัทธิทุนนิยม (1917) เลนิน บอกว่า จักรวรรดินิยมเป็นผลมาจาก "ขั้นตอนในการผูกขาดของทุนนิยม" เขาได้ย้ำด้วยว่า ที่ทุนมีการสั่งสมเพิ่มมากขึ้น ๆ ในประเทศเมืองแม่นั้น ก็เพราะคนไม่ค่อยจะใช้สอยเงินกัน เขาจึงได้สรุปไว้ว่า การแสวงหาตลาดใหม่ ๆ และโอกาสในการลงทุนในแหล่งใหม่ ๆ นั้น จะนำไปสู่จักรวรรดินิยมและสงครามของพวกจักรวรรดินิยม ซึ่งในที่สุดก็จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการล่มสลายของลัทธิทุนนิยมอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้

ความสำคัญ จักรวรรดินิยมทางเศรษฐกิจนี้ มีลักษณะที่มีความละเอียดอ่อนกว่าจักรวรรดินิยมแบบดั้งเดิม ทั้งนี้เพราะจักรวรรดินิยมทางเศรษฐกิจนี้มิได้เกี่ยวข้องกับการเข้าปกครองโดยทางการเมืองจริง ๆ แต่ทว่าผลที่ออกมาอาจจะมีลักษณะคล้าย ๆ กันก็ได้ เพราะว่าเมื่อรัฐที่อ่อนแอกว่าจำต้องพึ่งพาทางเศรษฐกิจต่อรัฐที่เข้มแข็งกว่ามากขึ้นเท่าใด รัฐที่อ่อนแอนั้นก็ยากที่จะต้านทานการเรียกร้องทางการเมืองของรัฐที่เข้มแข็งกว่ามากยิ่งขึ้นเท่านั้น แต่ถ้าหากรัฐที่อ่อนแอกว่านั้นยังมีสิทธิในการเวนคืน (อสังหาริมทรัพย์) และสิทธิในการขับไล่ต่างชาติอยู่ ก็ยากที่จะดำรงจักรวรรดินิยมทางเศรษฐกิจนี้ไว้ได้ หมู่ประเทศที่กำลังพัฒนาต่างก็ต้องการเงินลงทุนจากแหล่งเงินทุนต่างประเทศจำนวนมาก ๆ ด้วยกันทั้งนั้น แต่ทว่าประเทศเหล่านี้ต่างก็เคยมีสถานภาพเคยตกเป็นเมืองขึ้นมาแล้วทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจึงต่างกลัวเป็นอย่างยิ่งว่าจะถูกต่างประเทศเข้าควบคุมและเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจเหมือนเมื่อครั้งอดีต มีหลายประเทศได้พยายามหลีกเลี่ยง"เงื่อนไข" ที่ติดมากับเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าและเงินกู้แบบทวิภาคีอันจะมีผลกระทบต่ออธิปไตยของชาตินี้ โดยวิธีหันไปขอความช่วยเหลือผ่านทางองค์การการเงินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือผ่านทางองค์การต่าง ๆ ของสหประชาชาติ

Nation

ชาติ

กลุ่มทางสังคม ซึ่งมีอุดมการณ์ สถาบัน จารีตประเพณี และความรู้สึกอันหนึ่งอันเดียวกัน ร่วมกัน คำว่า "Nation" นี้ยากที่จะให้คำจำกัดความ เพื่อจะแยกแยะให้จากกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งแสดงถึงคุณลักษณะเหมือน ๆ กันบางอย่าง อย่างเช่น นิกายทางศาสนา เป็นต้น อย่างไรก็ดี ในชาติจะมีความรู้สึกความเป็นเจ้าของซึ่งมีความสัมพันธ์ไปถึงดินแดนแห่งหนึ่งแห่งใดที่ถือว่ามีลักษณะพิเศษเป็นของตัวเอง "ชาติ" นี้อาจประกอบเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ เป็นของมีอยู่คู่กับรัฐ หรืออาจขยายออกไปนอกพรมแดนของรัฐนั้นด้วยก็ได้

ความสำคัญ แนวความคิดเรื่อง "ชาติ" นี้ เน้นย้ำถึงประชาชนและความเป็นหนึ่งเดียว ในความหมายแง่นี้ก็ยังหมายรวมไปถึงศัพท์ที่ประกอบมาจากคำนี้ด้วย เช่น คำว่า nationality (สัญชาติ) และ nationalism (ชาตินิยม) ในศัพท์ที่คู่กันสามัญ คำว่า country, state, และ nation มักจะใช้แทนกันได้ แต่ก็มีความหมายไม่เหมือนกันเลยทีเดียว คำว่า country มีความหมายในทางภูมิศาสตร์ คำว่า state แสดงออกถึงองค์การทางกฎหมายของสังคม และคำว่า nation หมายถึง การรับรู้ทางสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่ม ส่วนศัพท์ว่า nation-state นั้น หมายถึงกลุ่มที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางสังคมและทางวัฒนธรรม มีคุณสมบัติเป็นองค์การทางการเมืองที่สามารถเข้าร่วมในการเมืองระหว่างประเทศได้

Nationalism

ชาตินิยม
ความรู้สึกในความเป็นเจ้าของร่วมกัน หรือเจตจำนงของประชาชนที่จะดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของกลุ่มโดยการจัดตั้งเป็นสถาบันขึ้นมาในรูปแบบของรัฐ ชาตินิยมนี้สามารถทำให้เกิดเข้มข้นขึ้นมาได้โดยใช้ความผูกพันที่มีร่วมกันคือความผูกพันด้านเผ่าพันธุ์ ด้านภาษา ด้านประวัติศาสตร์ และด้านศาสนา ชาตินิยมนี้ตามปกติแล้วจะมีความสัมพันธ์กับดินแดนแห่งใดแห่งหนึ่งโดยเฉพาะ แนวความคิดเรื่องชาตินิยมนี้อาจจะมองได้ในแง่ของความสามารถของกลุ่มชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่สามารถติดต่อสื่อสารระหว่าง กันได้อย่างมีประสิทธิผลยิ่งกว่าที่จะติดต่อกับกลุ่มภายนอกอื่น ๆ ปรากฏการณ์ชาตินิยมนี้ ไม่ว่าจะอธิบายอย่างไร ก็คือมีลักษณะสำคัญอยู่ที่ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในกลุ่มที่แยกออกไปจากคนกลุ่มอื่น ๆ ของโลก ชาตินิยมนี้มีการพัฒนาขึ้นครั้งแรกในยุโรปตะวันตก เมื่อได้มีการรวมตัวกลุ่มศักดินาต่าง ๆ เข้ามารวมอยู่ในอาณาจักรทั้งหลาย อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดการปฏิวัติในฝรั่งเศสและเกิดสงครามนโปเลียนขึ้นมาแล้ว ลัทธิชาตินิยมนี้ได้กลายมาอิงตัวบุคคลเป็นสำคัญแทนที่จะอิงรัฐเหมือนแต่ก่อน

ความสำคัญ ชาตินิยม ในฐานะที่เป็นอารมณ์มวลชน มีพลังทางการเมืองในเชิงปฏิบัติการที่ทรงอานุภาพมากที่สุดในโลก เป็นความรู้สึกที่ช่วยทำให้รัฐเป็นจุดรวมศูนย์สูงสุดของความจงรักภักดีของบุคคลแต่ละคน ความจงรักภักดีนี้สามารถแสดงออกมาให้เห็นได้ และหากจะให้คนจงรักภักดีอยู่เสมอก็สามารถทำได้ ด้วยการใช้สัญลักษณ์ได้หลากหลายอย่าง เช่น มีวีรบุรุษแห่งชาติ มีเครื่องแต่งกายประจำชาติ มีการปฏิญาณ ตนของคนในชาติว่าจะจงรักภักดีต่อชาติ มีวันหยุดประจำชาติ และมีวันสำคัญทางศาสนา เป็นต้น ชาตินิยมนี้ในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมระดับมวลชน ยังสามารถช่วยสร้างความสามัคคีกลมเกลียวและความรู้สึกความเป็นเจ้าของร่วมกันของคนภายในชาติได้ นอกจากนั้นแล้ว ก็ยังเป็นตัวการก่อให้เกิดความเป็นศัตรู ความแบ่งแยก ความตึงเครียด และสงครามระหว่างกลุ่มชาตินิยมหรือกลุ่มรัฐต่าง ๆ ที่เป็นปฏิปักษ์กันได้ด้วย แต่แรกเริ่มเดิมทีนั้น แนวความคิดเรื่องชาตินิยมนี้เกิดขึ้นในยุโรปก่อน แต่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ลัทธิชาตินิยมนี้เป็นตัวกระตุ้นความรู้สึกให้แก่มวลชนนับล้าน ๆ คนในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกาจนเกิดการเปลี่ยนแปลงสถานะจากการตกเป็นเมืองขึ้นไปสู่การเป็นดินแดนมีเอกราชในที่สุด สำหรับในรัฐเก่าแก่การปะทุขึ้นมาใหม่ของลัทธิชาตินิยมนี้ เป็นตัวการที่สร้างความอ่อนแอให้แก่การรวมตัวเป็นพันธมิตรของกลุ่มยุโรปตะวันตก และเป็นตัวการก่อให้เกิดการแตกแยกภายในกลุ่มคอมมิวนิสต์ที่ครั้งหนึ่งเคยแนบแน่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างเหนียวแน่น

Nationalism: Chauvinism

ชาตินิยม : ลัทธิคลั่งชาติ

ความรู้สึกคลั่งไคล้หลงใหลในชาติที่แสดงออกมามากจนเกินไป ลัทธิคลั่งชาตินี้ หมายถึงการทุ่มเทตนเพื่อชาติ มีความหลงใหลในเกียรติภูมิของชาติ และมีความคลั่งไคล้ในความรุ่งเรืองของชาติ คำว่า chauvinism นี้ได้มาจากชื่อทหารของพระเจ้านโปเลียนชื่อ Nicholas Chauvin ซึ่งทหารนายนี้มีความจงรักภักดีต่อผู้บังคับบัญชาและประเทศชาติอย่างเหลือล้น ลัทธิคลั่งชาตินี้ยังสามารถแสดงออกมาในรูปแบบของความรู้นึกชาตินิยมแบบสุด ๆ คือเห็นว่าทุกอย่างที่รัฐกระทำล้วนแต่เป็นการถูกต้องทั้งนั้น

ความสำคัญ ลัทธิคลั่งชาตินี้ เป็นลัทธิที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งในยุคสงครามเบ็ดเสร็จและสงครามทำลายล้างด้วยอาวุธนิวเคลียร์อย่างเช่นทุกวันนี้ ความรู้สึกคลั่งชาติ กล่าวคือ การคลั่งไคล้ในความยิ่งใหญ่ของประชารัฐของตนนี้จะทำให้มีวิสัยทัศน์คับแคบ เป็นตัวการสร้างปัญหาระหว่างประเทศขึ้นมาโดยไม่จำเป็น เพราะจะทำให้ลืมนึกถึงสิทธิและผลประโยชน์ของรัฐอื่น ๆ และจะทำอะไรโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของผู้ อื่นและชาติอื่น นอกจากนี้แล้ว ลัทธิคลั่งชาตินี้ ยังเป็นตัวการก่อให้เกิดความกลัวเกี่ยวกับความมั่นคงของ ชาติแบบไร้เหตุผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดการแตกแยกทางอุดมการณ์ระหว่างประเทศอย่างหนักหน่วงกันนี้ สำหรับรัฐที่เตรียมการทำสงคราม อย่างเช่นในกรณีของนาซีเยอรมนีในช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ.1930 ก็อาจจะใช้ลัทธิคลั่งชาตินี้ในการสร้างความสามัคคีให้แก่คนภายในชาติและในการเรียกร้องให้ทุกคนในชาติเสียสละเพื่อการสงคราม

Nationalism, Integral

ชาตินิยมแบบเบ็ดเสร็จ

ชาตินิยมในรูปแบบที่ยึดหลักพวกเราดีกว่าพวกเขาอย่างชนิดที่เด็ดขาด ผ่อนปรนไม่ได้ จะยกย่องรัฐให้เป็นศูนย์รวมสูงสุดของความภักดีของแต่ละคนภายในรัฐ ชาตินิยมแบบรวมศูนย์ หรือแบบเบ็ดเสร็จนี้ จะมุ่งอยู่ที่ความมั่นคงของรัฐจนเลยเถิดเกินพอดีไป จะมุ่งส่งเสริมอำนาจให้แก่รัฐตน โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของรัฐอื่น และจะดำเนินนโยบายแห่งชาติโดยมุ่งหวังอยู่แต่ผลประโยชน์ตนที่คับแคบนั้น ชาตินิยมแบบเสรีนิยมได้เริ่มหลีกทางให้แก่ชาตินิยมแบบเบ็ดเสร็จนี้เมื่อตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยได้รับผลกระทบมาจากการแข่งขันทางด้านอุตสาหกรรม ทางด้านการค้า ทางด้านจักรวรรดินิยม และทางด้านการทหาร และเป็นผลมาจากการที่ประชาชนได้เพิ่มการกดดันให้รัฐหันมาปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและทางสังคมจากการแข่งขันกับต่างประเทศ ในทางประวัติศาสตร์นั้น ชาตินิยมแบบรวมศูนย์แบบเบ็ดเสร็จนี้ได้พัฒนาขึ้นมาเมื่อตอนเกิดการปกครองตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช (ชาตินิยมในราชวงศ์) แต่ที่แสดงให้เห็นเด่นชัดที่สุด ก็คือตอนที่เกิดลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จของพวกฟัสซิสต์เมื่อทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1930 และทศวรรษหลังปี ค.ศ.1940 ปรากฏการณ์เช่นเดียวกันนี้ได้ปรากฏให้เห็นหลากหลายแบบ เมื่อเกิดการแข่งขันทางด้านอุดมการณ์และการต่อสู้เพื่ออำนาจชาติในช่วงหลังสงครามโลครั้งที่ 2 มานี้

ความสำคัญ ชาตินิยมแบบเบ็ดเสร็จนี้ เน้นคนละที่กับชาตินิยมแบบเสรีนิยม ชาตินิยมแบบเสรีนิยมจะเน้นการสร้างประชารัฐ ส่วนชาตินิยมแบบเบ็ดเสร็จจะมุ่งให้รัฐเข้ามาอยู่ในแวดวงการเมืองระหว่างประเทศ ในการแข่งขันกันกับผลประโยชน์และนโยบายของรัฐอื่น แต่เดิมมาเคยถือกันว่ารัฐเป็นผู้รับใช้ของประชาชน แต่ภายใต้ลัทธิชาตินิยมแบบเบ็ดเสร็จนี้ ต้องการให้ประชาชนปฏิบัติตนและเชื่อฟังรัฐให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้โดยอ้างว่าเพื่อธำรงไว้และเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายทางอุดมการณ์ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเป้าหมายในการปลดเปลื้องความทุกข์ให้แก่ประชาชน

Nationalism, Liberal

ชาตินิยมแบบเสรีนิยม

ความหวังของกลุ่มชนที่จะให้บรรลุถึงความเป็นรัฐที่สมบูรณ์ และจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาโดยตั้งอยู่บนรากฐานของอธิปไตยปวงชน ชาตินิยมแบบเสรีนิยมนี้มีความเกี่ยวโยงทางปรัชญา กับการเสื่อมของระบอบการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ได้ใช้เป็นข้ออ้างเพื่อหาความชอบธรรมแก่การปกครอง ทั้งนี้เนื่องจากผลกระทบของการปฏิวัติในอเมริกาและการปฏิวัติในฝรั่งเศส เป็นการโยงใยไปถึงแนวความคิดแบบประชาธิปไตยต่าง ๆ กล่าวคือ การกำหนดแนวทางของการปกครองด้วยตนเอง ปัจเจกชนนิยม ระบอบรัฐธรรมนูญ สิทธิโดยธรรมชาติ และอธิปไตยปวงชน

ความสำคัญ ชาตินิยมแบบเสรีนิยม เน้นที่ความมีอิสระจากการครอบงำของต่างชาติ การปกครองตนเองและระบอบประชาธิปไตยของชนชั้นกลาง เมื่อประชาชนหันมานิยมหลักการเหล่านี้มากยิ่งขึ้น ก็ส่งผลให้เกิดการล่มสลายของจักรวรรดิสเปน ส่วนอิตาลีกับเยอรมนีต่างได้รวมตัวเองเป็นรัฐชาติได้สำเร็จ และในที่สุดระบอบราชาธิปไตยสามารถจะอยู่รอดได้เมื่อได้เปลี่ยนแปลงเป็นการปกครองแบบให้กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแล้วเท่านั้น รัฐให้ถือว่าเป็นผู้รับใช้ประชาชน ส่วนสงครามที่เคยเกิดขึ้นบ่อย ๆ นั้น ก็เป็นที่คาดหวังกันว่าจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว เพราะไม่ต้องให้สงครามมารับใช้ผลประโยชน์ของเจ้าอธิปไตยแบบใหม่อีกต่อไป หลักการของชาตินิยมแบบเสรีนิยมนี้ ก็ยังเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดเป็นแรงบันดาลใจให้แก่พวกขบวนการเรียกร้องเอกราชในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา

Nationalism : Self-Determination

ชาตินิยม : การกำหนดแนวทางปกครองด้วยตนเอง

หลักการที่กำหนดให้สิทธิแก่กลุ่มชน ซึ่งพิจารณาตนเองว่าเป็นคนละพวกและมีความแตกต่างจากกลุ่มชนอื่น ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้สามารถกำหนดด้วยตนเอง ซึ่งรัฐที่พวกตนจะได้เข้าไปอาศัยอยู่ด้วย และซึ่งรูปแบบรัฐบาลที่พวกตนต้องการจะมี การกำหนดแนวทางการปกครองด้วยตนเองนี้ มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับแนวความคิดชาตินิยมแบบเสรีนิยม และปรากฏโดยนัยในคำประกาศเอกราชของอเมริกาและคำประกาศสิทธิมนุษย์และประชาชนของฝรั่งเศส เป็นสื่อกลางที่กลุ่มผู้คนในชาติต่าง ๆ ใช้เป็นแบบในการสร้างสถาบันขึ้นมาในรูปแบบของรัฐเอกราชและมีอธิปไตย ชื่อบุคคลที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับเรื่องการกำหนดแนวทางการปกครองด้วยตนเองนี้ ได้แก่ ชื่อของประธานาธิบดี วูดโรว์ วิลสัน แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งหลักการนี้มีปรากฏอยู่ในเป้าหมายสันติภาพเมื่อปี ค.ศ. 1918 ของเขา คือโครงการ "โฟร์ตีนพอยท์" ที่โด่งดังนั่นเอง ข้อตกลงสันติภาพเมื่อปี ค.ศ.1919 นั้นได้ใช้เป็นเครื่องมือในการให้เอกราชแก่ แอลบาเนีย ออสเตรีย เชโกสโลวะเกีย เอสโทเนีย ฟินแลนด์ ฮังการี ลัตเวีย ลิทัวเนีย โปแลนด์ โรมาเนีย และยูโกสลาเวีย นอกจากนั้นแล้ว หลักการนี้ก็ยังได้ใช้ในการสร้างระบบดินแดนในอาณัติและระบบต่าง ๆ ที่ตามมาในภายหลัง คือ ระบบภาวะทรัสตี หลักการการกำหนดแนวทางปกครองด้วยตนเองนี้ ก็ยังมีความเกี่ยวข้องโยงใยอยู่กับเทคนิควิธีที่เรียกว่า "การออกเสียงประชามติ” ที่เป็นพื้นฐานในการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเส้นพรมแดนและอธิปไตยเหนือดินแดน

ความสำคัญ การกำหนดแนวทางปกครองด้วยตนเอง มักจะใช้เพื่อเป็นการยืนยันในสิทธิที่ชนกลุ่มน้อยนำมาอ้าง และมักจะใช้เป็นข้ออ้างถึงความชอบธรรมในการก่อการกบฎแยกดินแดน เมื่อข้อเรียกร้องเพื่อแยกการปกครองของตนได้รับการปฏิเสธ ในฐานะที่เป็นรูปแบบหนึ่งของชาตินิยม หลักการการกำหนดแนวทางการปกครองด้วยตนเองนี้ได้ทำให้มีรัฐต่าง ๆ เพิ่มจำนวนมามากนับตั้งแต่ตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มานี้เอง หลักการเดียวกันนี้ซึ่งได้ผสมผสานกับลัทธิชาตินิยมได้ในที่สุดนั้น ยังได้ก่อให้เกิดการแยกตัวทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้แล้ว ก็ยังได้ก้าวไปถึงจุดที่คำว่า "mini-state" ได้เข้าไปเป็นศัพท์ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไปแล้วด้วย อย่างไรก็ดี กฎหมายระหว่างประเทศยังไม่ได้ให้การรับรองสิทธินี้เท่านั้นเอง ผลที่ตามมา ก็คือ หลักการการกำหนดแนวทางปกครองด้วยตนเองของชาตินี้ เป็นปรากฎการณ์ทางการเมืองมากกว่าจะเป็นปรากฎการณ์ทางกฎหมาย และจะสำเร็จหรือล้มเหลวแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับรากฐานของการพิจารณาถึงปัจจัยของอำนาจภายในและอำนาจภายนอกเป็นสำคัญ

Nationalism : Xenophobia

ชาตินิยม : ความเกลียดกลัวต่างชาติ

ความเกรงกลัวหรือความไม่ไว้วางใจชาวต่างประเทศ ตลอดจนนโยบายและจุดประสงค์ของรัฐอื่น ความเกลียดกลัวต่างชาตินี้มีความสัมพันธ์กับอารมณ์มวลชนแบบพวกเราดีกว่าพวกเขากับชาตินิยม กล่าวคือ ทุกอย่างจะเป็นความสัมพันธ์กันระหว่างกลุ่มภายใน(พวกเรา)กับกลุ่มภายนอก (พวกเขา) ความเกลียดกลัวชาวต่างชาตินี้ เป็นเรื่องของการรับรู้คนอื่น คือแทนที่จะมองแต่ละคนเป็นปัจเจกชนกลับมองเห็นเป็นสิ่งที่เป็นภาพรวมน่าเกลียดน่ากลัวไปเสีย

ความสำคัญ ความกลียดกลัวต่างชาติ อาจจะแสดงออกมาในทำนองคิดว่าตัวเองมีความสูงส่งกว่าบุคคลภายนอก แต่ปรกติแล้วก็แฝงไปด้วยความรู้สึกหวาดระแวงและความไม่พอใจอยู่ในที ความรู้สึกเกลียดกลัวต่างชาตินี้ จะปรากฏเด่นชัดในหมู่คนที่เคยถูกเอารัดเอาเปรียบจากชาวต่างชาติ ซึ่งจะถูกเอารัดเอาเปรียบจริงหรือคิดไปเองก็แล้วแต่ ยกตัวอย่าง เช่น ประเทศจีนได้สร้างภาพลักษณ์ของชาวต่างชาติทั้งหมด ว่าเป็นพวกป่าเถื่อน และนับเป็นเวลาหลายศตวรรษได้ปฏิเสธที่จะติดต่อกับพวกป่าเถื่อนเหล่านี้ในฐานะเท่าเทียมกัน ต่อมาประเทศจีนได้ถูกมหาอำนาจตะวันตกเล่นงานเป็นที่อับอายขายหน้าเป็นที่ยิ่ง ความเกลียดกลัวต่างชาติของจีนจึงออกมาในรูปแบบการต่อต้านประเทศตะวันตกอย่างเต็มที่ ความรู้สึกที่ผสมผสานกัน ระหว่างความภาคภูมิใจกับความไม่สมหวังแบบนี้ สามารถนำไปใช้เพื่อเป้าหมายต่าง ๆ ได้ ชาวต่างชาติจะตกเป็นแพะรับบาปถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการมาสร้างความลำบากให้แก่ประเทศที่ได้เอกราชใหม่ ๆ คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นแทนที่จะโทษรัฐบาลภายในของตนกลับไปโทษว่าเป็นการกระทำจากภายนอกประเทศ ยกตัวอย่าง เช่น ในประเทศที่กำลังพัฒนาส่วนใหญ่ จะใช้วิธีโฆษณาชวนเชื่อให้เกิดความเกลียดกลัวต่างชาติโดยกล่าวหาด้วยถ้อยคำที่ว่า "ลัทธิล่าอาณานิคมใหม่" โดยมีจุดประสงค์ที่จะปลดเปลื้องประเทศตนจากถูกเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจจากต่างชาติ ซึ่งอาจจะจริงหรือไม่จริงก็แล้วแต่ นอกจากนี้แล้ว ความเกลียดกลัวต่างชาตินี้ ก็สามารถเกิดได้ระหว่างกลุ่มชนต่าง ๆ ที่อยู่ในประเทศเดียวกัน อย่างเช่น ที่เกิดการต่อต้าน ชาวจีนจำนวนมากซึ่งอยู่ตามประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น

Nationalist Movement : Irredentism

ขบวนการชาตินิยม : อุดมการณ์ผนวกดินแดนผู้ร่วมเชื้อชาติ

ความต้องการของคนในรัฐหนึ่งที่จะผนวกดินแดนข้างเคียงของอีกรัฐหนึ่งที่มีคนกลุ่มน้อยซึ่งมีภาษาและวัฒนธรรมเหมือนกับคนของรัฐแรกอาศัยอยู่มาก อุดมการณ์ผนวกดินแดนผู้ร่วมเชื้อชาติ (irredentism) นี้เป็นศัพท์ที่มีรากมาจากภาษาอิตาเลียน ว่า Italia irredenta ซึ่งมีความหมายว่า "อิตาลีที่ยังไม่ถูกปลดปล่อย" หรือชาวอิตาเลียนที่ยังไม่ถูกปลดปล่อยจากการควบคุมของต่างชาติ หลังจากที่ได้มีการตั้งอาณาจักรอิตาลีขึ้นมาแล้ว คำขวัญนี้ก็ได้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางโดยกลุ่มชาตินิยมที่ทำงานกันเพื่อผนวกชุมชนต่าง ๆ ตามชายแดนที่พูดภาษาอิตาเลียนเข้ามารวมอยู่ในอาณาจักรอิตาลี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือพวกที่อยู่ภายใต้การปกครองของออสเตรียในเทรนติโนและไทรอล

ความสำคัญ อุดมการณ์ผนวกดินแดนผู้ร่วมเชื้อชาติ เป็นชาตินิยมอีกลักษณะหนึ่งซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการกำหนดแนวทางปกครองด้วยตนเอง และก็เป็นที่มาของความตึงเครียดและความขัดแย้งระหว่างประเทศ เป็นอุดมการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นมาได้ในที่ซึ่งแนวพรมแดนทางการเมืองมิได้สอดคล้องกับแนวพรมแดนทางภาษาและเผ่าพันธุ์ ถึงแม้จะทำด้วยเจตนาดีขนาดไหน แนวพรมแดนในพื้นที่ซึ่งมีประชาชนคละเคล้ากันอยู่นั้น ยากที่จะขีดให้แน่ชัดเพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพึงพอใจได้ อุดมการณ์ผนวกดินแดนผู้ร่วมเชื้อชาตินี้ ยังสามารถใช้เป็นข้ออ้างเพื่อหาความชอบธรรมในการขยายดินแดนได้อีกด้วย ตัวอย่างในเรื่องนี้ ก็คือ การผนวกเมืองอัลเสซและเมืองลอร์เรนเข้ากับฝรั่งเศส หลังปี ค.ศ. 1870 และการผนวกสุเดเตนแลนด์ของเชโกสโลวะเกียเข้ากับเยอรมนีหลังสนธิสัญญาแวร์ซายส์ อุดมการณ์ผนวกดินแดนผู้ร่วมเชื้อชาติในหมู่ชาติที่เกิดใหม่ในทวีปแอฟริกา จะยังคงเป็นสาเหตุของความขัดแย้งในช่วงหลายปีข้างหน้า ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่าอดีตมหาอำนาจเจ้าอาณานิคมต่าง ๆ ในเวลาขีดเส้นแนวพรมแดนนั้นจะไม่ค่อยนึกถึงบูรณภาพทางภาษา วัฒนธรรม และชุมชนของชาวแอฟริกาเอาเสียเลย

Nationalist Movement : Namibia Issue

ขบวนการชาตินิยม : กรณีนามิเบีย

ปัญหาเกี่ยวกับเอกราชของนามิเบีย ดินแดนแห้งแล้งที่ชื่อว่านามิเบียนี้ มีขนาดของพื้นที่เป็นกึ่งหนึ่งของยุโรป แต่มีประชากรกระจัดกระจายกันอยู่รวมกันแล้วประมาณ 1.5 ล้านคน ดินแดนแห่งนี้อยู่ทางแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้ เคยตกเป็นอาณานิคมของเยอรมนี และเคยเป็นดินแดนในอาณัติของแอฟริกาใต้โดยการดำเนินการขององค์การสันนิบาตชาติหลังสงครามโลกครั้งที่1 ครั้นเมื่อองค์การสันนิบาตล้มเลิกไปเมื่อ ค.ศ. 1946 แอฟริกาใต้ได้ปฏิเสธที่จะให้นามิเบียไปอยู่ภายใต้ข้อบังคับเกี่ยวกับดินแดนภาวะทรัสตรีของกฎบัตรสหประชาชาติ และได้ยึดดินแดนนามิเบียเป็นของตนต่อไป โดยอ้างว่าตนได้สิทธิสืบทอดจากจักรวรรดิเยอรมนี จึงชอบที่จะผนวกดินแดนนี้เข้ามาอยู่ในดินแดนตน ได้มีการต่อสู้กันในทางกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัชชาใหญ่ และศาลสถิตยุติธรรมระหว่างประเทศได้ตัดสินเมื่อปี ค.ศ. 1971 ว่า แอฟริกาใต้เข้าไปอยู่ในนามิเบียโดยขัดต่อกฎหมาย ภายในดินแดนนามิเบียเอง ก็ได้เกิดการคัดค้านการเข้าไปอยู่ในนามิเบียของแอฟริกาใต้จากองค์การประชาชนชาวแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้ (หรือเรียกว่า สวาโป ) ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 1960 เมื่อถึงปี ค.ศ. 1966 กลุ่มสวาโปนี้ ซึ่งมีฐานปฏิบัติการอยู่ที่แองโกลา ก็ได้เริ่มทำสงครามกองโจรอย่างต่อเนื่อง และก็เป็นกลุ่มที่ได้รับการรับรองจากองค์การสหประชาชาติว่า เป็นผู้แทนอย่างเป็นทางการของประชาชนนามิเบีย การเจรจาเกี่ยวกับเรื่องเอกราชของนามิเบียนี้ มีฝ่ายที่เกี่ยวข้องคือ องค์การสวาโป กลุ่มติดต่อกับสหประชาชาติว่าด้วยนามิเบีย (คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนีตะวันตก และคานาดา) กลุ่มที่เรียกว่ารัฐแนวหน้า (คือ แองโกลา บอตสวานา แซมเบีย ซิมบับเว โมแซมบิก และทันซาเนีย) และไนจีเรีย ฝ่ายหนึ่ง กับแอฟริกาใต้ประเทศเดียวเป็น อีกฝ่ายหนึ่ง มติคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติที่ 435 (ค.ศ. 1978) ได้ใช้เป็นพื้นฐานในการให้เอกราชแก่นามิเบียในเวลาต่อมา

ความสำคัญ กรณีนามิเบียและกรณีการแยกผิวนี้ ก่อให้เกิดการรวมตัวของหมู่ประเทศแอฟริกันของคนผิวดำเข้าต่อต้านรัฐบาลของพวกคนผิวขาวในสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ การโจมตีข้ามพรมแดนโดยกองกำลังแอฟริกาใต้ และการเชื่อมโยงระหว่างการให้มีการปฏิบัติตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติที่ 435 กับการที่ให้ถอนกองทหารคิวบาจำนวนประมาณ 20,000-30,000 คนออกไปจากแองโกลาอันเป็นฐานปฏิบัติการขององค์การสวาโป ล้วนนำไปสู่การกล่าวหาของทั้งสองฝ่ายว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นตัวถ่วงข้อตกลง ในขณะเดียวกันก็ได้มีความพยายามในระดับนานาชาติที่จะแก้ไขสองกรณีนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันการเกิดการนองเลือดระหว่างเผ่าพันธุ์ที่โหดร้ายทารุณและขยายตัวมากยิ่งขึ้นในทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา

Nationalist Movement : Palestine Liberation Organization (PLO)

ขบวนการชาตินิยม : องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (พีแอลโอ)

องค์การทางการเมืองและการทหารที่นับตั้งแต่ทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1960 เป็นต้นมา ได้มีจุดหมายที่จะทำหน้าที่เป็นผู้แทนรักษาผลประโยชน์ของประชาชนชาวปาเลสไตน์ ในการต่อสู้เพื่อเอกราชและมีรัฐเป็นของตนเอง องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์นี้มีนายยัสเซอร์ อาราฟัต เป็นผู้นำ เป็นการรวมกลุ่มชาตินิยมที่ต่อต้านอิสราเอลหลากหลายกลุ่มเข้ามาอยู่ด้วยกัน กลุ่มเหล่านี้มีน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่จะต่อต้านอิสราเอล และสานฝันไว้ร่วมกันว่าจะมีมาตุภูมิให้แก่ชาวปาเลสไตน์ให้จงได้ การที่มีกลุ่มต่าง ๆ เข้ามารวมกันอยู่ในองค์การพีแอลโอนี้ จึงทำให้การเคลื่อนไหวในการปลดปล่อยไม่มีเสถียรภาพเท่าที่ควร เนื่องจากยังมีข้อถกเถียงกันอย่างต่อเนื่องถึงเรื่องยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่จะนำมาใช้เพื่อให้บรรลุถึงจุดประสงค์ร่วมกัน คนอิสราเอลถือว่าเป้าหมายสำคัญขององค์การพีแอลโอนี้ ก็คือ การทำลายล้างรัฐอิสราเอล และเชื่อว่าเป็นองค์การก่อการร้ายที่จะต้องไม่ให้การรับรองทางการเมืองไม่ว่าจะในรูปแบบใดทั้งนั้น

ความสำคัญ ในขณะที่บางรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิสราเอลและสหรัฐอเมริกา ในนโยบายแห่งชาติถือว่าองค์การพีแอลโอนี้เป็นองค์การก่อการร้าย แต่รัฐอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงกลุ่มโลกที่สาม กลุ่มคอมมิวนิสต์และอีกบางรัฐในยุโรปตะวันตก กลับถือว่าองค์การพีแอลโอนี้เป็น "องค์การปลดปล่อย" ซึ่งกำลังแสวงหาจุดประสงค์ทางการเมือง พวกกลุ่มหลังนี้ได้สร้างแรงกดดันอย่างต่อเนื่องต่อพวกกลุ่มแรก โดยผ่านทางมติและปฏิบัติการต่าง ๆ ของสหประชาชาติให้รับรององค์การพีแอลโอนี้ว่าเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของประชาชนชาวปาเลสไตน์ และให้การสนับสนุนให้มีการสร้างรัฐปาเลสไตน์เป็นจุดมุ่งหมายทางการเมืองที่ชอบธรรมผลของความพยายามต่าง ๆ เหล่านี้ ก็คือ องค์การพีแอลโอได้รับสิทธิมีสถานภาพเป็นผู้สังเกตการณ์ในองค์การสหประชาชาติและในองค์การแรงงานสากล (ไอแอลโอ) ได้สมาชิกภาพในกลุ่ม - 77 (จี -77)ซึ่งเป็นแกนกลางของกลุ่มโลกที่ 3 และได้สมาชิกภาพขบวนการกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (นาม) ถึงแม้ว่าองค์การ พีแอลโอจะถูกขับไล่ออกจากเลบานอนเมื่อปี ค.ศ. 1982 โดยกองกำลังขับไล่ของอิสราเอล แต่พอถึงช่วงปลายทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1980 องค์การพีแอลโอนี้ได้ดำเนินการเพื่อกลับไปตั้งฐานอำนาจของตนขึ้นมาใหม่ในเลบานอน และพร้อมกันนั้นก็ได้พยายามขอรับความช่วยเหลือทางด้านการเมืองและการทหารจากหมู่รัฐอาหรับต่าง ๆ องค์การพีแอลโอได้คัดค้านมติคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติที่ 242 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นมติที่ใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการแก้ไขปัญหาทางการเมืองในตะวันออกกลางโดยทั่ว ๆไป คือให้การรับรองในสิทธิของอิสราเอลที่จะดำรงอยู่และให้อิสราเอลยุติการปกครองเหนือดินแดนยึดครองในเวสต์แบงก์ ฉนวนกาซา และที่ราบสูงโกลาน เหตุผลสำคัญที่องค์การพีแอลโอคัดค้านมติที่ 242 นี้ก็เพราะมิได้มีการระบุไว้อย่างตรง ๆ ถึงการกำหนดแนวทางปกครองด้วยตนเองของปาเลสไตน์นั่นเอง

Nationalist Movement : Zionism

ขบวนการชาตินิยม : ขบวนการไซออนิสต์ (ขบวนการคืนสู่มาตุภูมิของชนชาติยิว)

ขบวนการไซออนิสต์ แต่เดิมทีเป็นขบวนการความพยายามในระดับนานาชาติที่จะสร้างมาตุภูมิของชาวยิวในดินแดนปาเลสไตน์ ได้มีการประชุมของขบวนการไซออนิสต์ขึ้นเป็นครั้งแรกภายใต้การนำของธีออดอร์ เฮอร์เซิล เมื่อปี ค.ศ. 1897 เมื่ออีกหลายปีต่อมา ขบวนการไซออนิสต์นี้ก็ยังคงเป็นทรรศนะของคนยิวส่วนน้อย พวกคนยิวส่วนใหญ่ (คือพวกที่นิยมผสมกลมกลืนกับคนชาติอื่น) มีความพอใจกับความเป็นพลเมืองในประเทศที่ตนเกิดนั้น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือพวกที่อยู่ในยุโรปตะวันตกและในทวีปอเมริกา หลังจากที่ฮิตเลอร์ได้ทำการสังหารคนยิวไปจำนวนหลายล้านคนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ขบวนการไซออนิสต์นี้ก็ได้รับการสนับสนุนใหม่ การสร้างรัฐอิสราเอลขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1948 เป็นการทำความฝันของขบวนการไซออนิสต์ที่ต้องการมีรัฐอิสราเอลกลายเป็นความจริงขึ้นมา ทุกวันนี้ พวกไซออนิสต์นี้ได้ให้การสนับสนุนทางด้านการเมือง การเศรษฐกิจ การเงิน และการทหารแก่อิสราเอล และได้ให้การสนับสนุนให้มีการอพยพชาวยิวเข้าไปตั้งรกรากอยู่ในอิสราเอล

ความสำคัญ กลุ่มขบวนการไซออนิสต์ จะปฏิบัติการอย่างแข็งขันในหมู่ประเทศต่าง ๆ เช่น ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีประชาชาวยิวอยู่กันเป็นจำนวนมาก พวกกลุ่มไซออนิสต์จะสนับสนุนให้คนยิวสัญชาติ อเมริกันทำการกดดันพรรคการเมืองและรัฐบาลสหรัฐฯให้มาสนับสนุนทางนโยบายต่างประเทศแก่อิสราเอลอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นแล้ว พวกกลุ่มไซออนิสต์นี้ก็ยังได้ปฏิบัติการคัดค้านผลประโยชน์ของอาหรับในความขัดแย้งระหว่างอาหรับกับอิสราเอลที่ดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง และในเรื่องต่าง ๆ เป็นต้นว่า การรับรองรัฐอิสราเอล ผู้ลี้ภัย ดินแดนที่พิพาทกันอยู่ และสถานภาพของกรุงเยรูซาเล็ม ขบวนการไซออนิสต์ในฐานะที่เป็นพลังทางการเมือง เป็นที่รวมของคนยิวและคนอื่นที่มิใช่ยิวไว้จำนวนมาก

Neutralism

นโยบายเป็นกลาง

ท่าทีหรือนโยบาย ที่เป็นอิสระและที่ไม่เข้าข้างฝ่ายใด ในการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันระหว่างฝ่ายตะวันออกกับฝ่ายตะวันตก นโยบายเป็นกลางนี้ หมายถึง จุดยืนทางการเมืองของรัฐต่าง ๆ ที่ได้ตัดสินใจที่จะไม่ให้การสนับสนุนสหรัฐอเมริกาหรือสหภาพโซเวียต และด้วยเหตุนี้ จึงไม่ยอมเข้าไปรวมอยู่ในกลุ่มตะวันออกหรือกลุ่มตะวันตก นโยบายเป็นกลาง ยังหมายถึง การตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะคงความมีอิสระในการดำเนินการต่าง ๆ ตามบงการของผลประโยชน์แห่งชาติ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่ถือว่านโยบายเป็นกลางเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในการเมืองระหว่างประเทศ นอกจากนี้แล้ว นโยบายเป็นกลางนี้ก็จะต้องไม่นำไปสับสนกับแนวความคิดทางกฎหมาย คือ ความเป็นกลาง ซึ่งแนวความคิดอย่างหลังนี้ หมายถึง นโยบายไม่ลำเอียงเข้าฝ่ายใดในคู่สงครามที่ทำการรบกันอยู่นั้น

ความสำคัญ นโยบายเป็นกลาง หรือนโยบายไม่เข้าไปผูกพันกับฝ่ายใด ผนวกเข้ากับการที่มีรัฐต่าง ๆ เพิ่มจำนวนขึ้นมามากมายนี้ ได้ช่วยไปลดความกระชับของระบบสองขั้วอำนาจให้คลายตัวลง และช่วยให้มีอิสระในการปฏิบัติการเพื่อให้เกิดดุลอำนาจระหว่างประเทศได้หวนกลับมาได้อีกครั้งหนึ่ง กลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เมื่อดำเนินแนวทางอิสระนี้แล้วก็จะมีอิสระที่จะนิยามผลประโยชน์แห่งชาติตนและจะมุ่งความสนใจไปยังปัญหารีบด่วน คือ การสร้างความทันสมัย และการสร้างบูรณาการให้แก่ชาติตน พวกที่ยึดนโยบายเป็นกลางจึงอยู่ในฐานะที่จะรับความช่วยเหลือจากแหล่งใดก็ได้ และก็จะสามารถบีบฝ่ายตะวันออกและฝ่ายตะวันตกให้แข่งกันมาให้ความช่วยเหลือประเทศที่ยึดแนวนโยบายเป็นกลางนี้ได้ แรงกระทบของนโยบายเป็นกลางได้ปรากฏให้เห็นโดยเฉพาะในสมัชชาใหญ่ โดยที่ตอนนี้มีประเทศในทวีปแอฟริกาและทวีปเอเชียประกอบกันเป็นเสียงส่วนใหญ่ในองค์การนี้แล้ว ประเทศต่าง ๆ เหล่านี้จึงได้บีบบังคับให้รัฐเก่า ๆ ทั้งหลายเลิกหมกมุ่นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างตะวันออกกับตะวันตกเสีย แล้วหันมาให้ความสนใจในปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศส่วนใหญ่กลุ่มใหม่นี้มากยิ่งขึ้น

Elephantstay,Thailand,

Elephantstay,Thailand,
Llive,work and play with elephants