Monday, October 19, 2009

Nationalist Movement : Namibia Issue

ขบวนการชาตินิยม : กรณีนามิเบีย

ปัญหาเกี่ยวกับเอกราชของนามิเบีย ดินแดนแห้งแล้งที่ชื่อว่านามิเบียนี้ มีขนาดของพื้นที่เป็นกึ่งหนึ่งของยุโรป แต่มีประชากรกระจัดกระจายกันอยู่รวมกันแล้วประมาณ 1.5 ล้านคน ดินแดนแห่งนี้อยู่ทางแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้ เคยตกเป็นอาณานิคมของเยอรมนี และเคยเป็นดินแดนในอาณัติของแอฟริกาใต้โดยการดำเนินการขององค์การสันนิบาตชาติหลังสงครามโลกครั้งที่1 ครั้นเมื่อองค์การสันนิบาตล้มเลิกไปเมื่อ ค.ศ. 1946 แอฟริกาใต้ได้ปฏิเสธที่จะให้นามิเบียไปอยู่ภายใต้ข้อบังคับเกี่ยวกับดินแดนภาวะทรัสตรีของกฎบัตรสหประชาชาติ และได้ยึดดินแดนนามิเบียเป็นของตนต่อไป โดยอ้างว่าตนได้สิทธิสืบทอดจากจักรวรรดิเยอรมนี จึงชอบที่จะผนวกดินแดนนี้เข้ามาอยู่ในดินแดนตน ได้มีการต่อสู้กันในทางกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัชชาใหญ่ และศาลสถิตยุติธรรมระหว่างประเทศได้ตัดสินเมื่อปี ค.ศ. 1971 ว่า แอฟริกาใต้เข้าไปอยู่ในนามิเบียโดยขัดต่อกฎหมาย ภายในดินแดนนามิเบียเอง ก็ได้เกิดการคัดค้านการเข้าไปอยู่ในนามิเบียของแอฟริกาใต้จากองค์การประชาชนชาวแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้ (หรือเรียกว่า สวาโป ) ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 1960 เมื่อถึงปี ค.ศ. 1966 กลุ่มสวาโปนี้ ซึ่งมีฐานปฏิบัติการอยู่ที่แองโกลา ก็ได้เริ่มทำสงครามกองโจรอย่างต่อเนื่อง และก็เป็นกลุ่มที่ได้รับการรับรองจากองค์การสหประชาชาติว่า เป็นผู้แทนอย่างเป็นทางการของประชาชนนามิเบีย การเจรจาเกี่ยวกับเรื่องเอกราชของนามิเบียนี้ มีฝ่ายที่เกี่ยวข้องคือ องค์การสวาโป กลุ่มติดต่อกับสหประชาชาติว่าด้วยนามิเบีย (คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนีตะวันตก และคานาดา) กลุ่มที่เรียกว่ารัฐแนวหน้า (คือ แองโกลา บอตสวานา แซมเบีย ซิมบับเว โมแซมบิก และทันซาเนีย) และไนจีเรีย ฝ่ายหนึ่ง กับแอฟริกาใต้ประเทศเดียวเป็น อีกฝ่ายหนึ่ง มติคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติที่ 435 (ค.ศ. 1978) ได้ใช้เป็นพื้นฐานในการให้เอกราชแก่นามิเบียในเวลาต่อมา

ความสำคัญ กรณีนามิเบียและกรณีการแยกผิวนี้ ก่อให้เกิดการรวมตัวของหมู่ประเทศแอฟริกันของคนผิวดำเข้าต่อต้านรัฐบาลของพวกคนผิวขาวในสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ การโจมตีข้ามพรมแดนโดยกองกำลังแอฟริกาใต้ และการเชื่อมโยงระหว่างการให้มีการปฏิบัติตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติที่ 435 กับการที่ให้ถอนกองทหารคิวบาจำนวนประมาณ 20,000-30,000 คนออกไปจากแองโกลาอันเป็นฐานปฏิบัติการขององค์การสวาโป ล้วนนำไปสู่การกล่าวหาของทั้งสองฝ่ายว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นตัวถ่วงข้อตกลง ในขณะเดียวกันก็ได้มีความพยายามในระดับนานาชาติที่จะแก้ไขสองกรณีนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันการเกิดการนองเลือดระหว่างเผ่าพันธุ์ที่โหดร้ายทารุณและขยายตัวมากยิ่งขึ้นในทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา

No comments:

Post a Comment

Elephantstay,Thailand,

Elephantstay,Thailand,
Llive,work and play with elephants