Monday, October 19, 2009

Imperialism

จักรวรรดินิยม

สัมพันธภาพในแบบผู้สูงส่งกับผู้ต่ำต้อย ในที่ซึ่งดินแดนและประชาชนตกเป็นเบี้ยล่างอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐต่างประเทศ จักรวรรดินิยมนี้สามารถสืบสาวถึงลำดับขั้นตอนของการพัฒนาของมันขึ้นมาในโลกสมัยใหมได้หลายช่วงด้วยกัน ในช่วงแรก ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาคร่าว ๆ ตั้งแต่การเดินทางสำรวจของโคลัมบัสจนกระทั่งสงครามเจ็ดปียุติลงในปี ค.ศ. 1763 จักรวรรดินิยมขั้นตอนนี้เป็นผลมาจากการเกิดขึ้นของระบบประชารัฐในยุโรป ตลอดจนถึงการเกิดปรัชญาเศรษฐกิจแบบลัทธิพาณิชยนิยม และลัทธิคลั่งศาสนาที่ต้องการให้ศาสนาคริสต์เผยแพร่ไปยังที่ต่าง ๆ ในช่วงเวลานี้ พื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกใหม่ทางซีกโลกในภาคตะวันตก ได้ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของพวกยุโรป โดยวิธีพิชิตและสร้างอาณานิคมขึ้นมา ส่วนในทวีปเอเชีย พวกที่นำกระแสของลัทธิจักรวรรดินิยมเข้ามา ก็คือ บริษัทต่าง ๆ ที่ทำการค้าโดยการว่าจ้างของรัฐต่าง ๆ ในยุโรป ในช่วงที่สอง คือ ช่วงตั้งแต่ ค.ศ. 1763 ถึงประมาณ ค.ศ.1870 การขยายตัวของลัทธิจักรวรรดินิยมมีน้อย ทั้งนี้เพราะพวกยุโรปมัววุ่นอยู่กับการพัฒนาลัทธิชาตินิยมแบบเสรีและการปฏิวัติอุตสาหกรรม ช่วงที่สาม คือ ช่วงตั้งแต่ ค.ศ. 1870 ถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นช่วงที่กระแสคลื่นของลัทธิจักรวรรดินิยมได้ไหลบ่าเข้าไปทั่วทวีปแอฟริกาและพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคตะวันออกไกล ในช่วงเวลานี้ รัฐอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต่างสนองตอบต่อการแข่งขันที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นในการค้าระหว่างประเทศ โดยการแสวงหาตลาดสำหรับขายสินค้าของตนตลอดจนแหล่งวัตถุดิบต่าง ๆ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ลัทธิจักรวรรดินิยมได้ถึงภาวะสูงสุดแล้วเริ่มเสื่อมลง ๆ แต่พอถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เกิดกระบวนการกำจัดจักรวรรดิต่าง ๆ ที่มีกระแสรุนแรงมาก เพราะเขาเห็นกันว่า เรื่องจักรวรรดินิยมนี้เป็นเรื่องเลวร้าย ในการดำเนินโยบายจักรวรรดินิยมต้องเสียค่าโสหุ้ยแพงขึ้นมามาก และก็ยังได้เกิดกระแสลัทธิชาตินิยมไหลบ่าเข้ามาในทวีปเอเชียและทวีแอฟริกา แรงจูงใจให้เกิดลัทธิจักรวรรดินิยมนี้ มีความแตกต่างกันไปตามกาลเวลาและตามชาติที่มามีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เมื่อว่าโดยหลักใหญ่ ๆ แล้วมีดังนี้คือ (1) ความจำเป็นทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ ต้องการหาตลาด หาวัตถุดิบ และหาทอง กับมีการนำการค้ามาบังหน้าเพื่อยึดดินแดนเป็นอาณานิคม (2) ความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวคือ ที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ วัสดุต่าง ๆ และกำลังพล (3) เกียรติภูมิ ได้แก่ การได้รับการยกย่องเชิดหน้าชูตาว่า "ชะตากรรมที่ปรากฏ”(เป็นเกียรติภูมิของสหรัฐฯในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่เชื่อว่าการขยายดินแดนเป็นชะตากรรมที่พระเจ้ากำหนดมาให้) "สถานที่ในพระอาทิตย์"(เป็นเกียรติภูมิที่จะขยายดินแดนเข้าไปในดินแดนที่มีชัยภูมิดี) "พระอาทิตย์ไม่เคยตกดินที่จักรวรรดิอังกฤษ" และ (4) มนุษยธรรมนิยม คือ ความคิดที่มุ่งส่งเสริมหรือยกระดับคุณธรรมในหมู่มนุษย์ เพื่อให้สังคมมนุษย์พ้นจากความทุกข์และให้มีความสุขสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยกระทำในรูปกิจกรรมเผยแพร่ศาสนายึดหลัก "ภาระของคนผิวขาว" และภาระในการสร้างความศิวิไลซ์ให้แก่คนพื้นเมืองทั้งในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา

ความสำคัญ ลัทธิจักรวรรดินิยมได้ทำการเผยแพร่แนวความคิด อุดมคติ และอารยธรรมทางวัตถุของโลกซีกตะวันตกเข้าไปยังทุกส่วนของโลก พวกจักรวรรดินิยมได้ตักตวงเอาผลประโยชน์ต่าง ๆ ออกไปจากดินแดนอาณานิคมต่าง ๆ มากมายก็จริงอยู่ แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ได้เข้ามาปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ตลอดจนได้นำทัศนคติต่าง ๆ เข้ามาในอาณานิคมและได้ทิ้งสิ่งเหล่านี้ไว้เบื้องหลังเมื่อจากไป เป็นต้นว่า การศึกษา การอนามัย กฎหมาย และการปกครอง ซึ่งล้วนแต่มีความสัมพันธ์กับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ คือ การสร้างชาติ และการปฏิวัติการคาดหวังที่มีกระแสพุ่งขึ้นมาในหมู่ของประชาชน แต่พอถึงปัจจุบัน คำว่า"ลัทธิจักรวรรดินิยม"นี้ เป็นแนวความคิดที่ใช้ในลักษณะที่เคลือบแฝงด้วยอารมณ์ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลายจนเดี๋ยวนี้ยากที่จะให้คำจำกัดความและนำไปใช้ นับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา คำว่า ลัทธิจักรวรรดินิยม เป็นคำที่ใช้ในเวลาที่จะประณามกันระหว่างสหรัฐอเมริกา กับสหภาพโซเวียต และสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลที่เกิดใหม่ในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกาใช้คำนี้กับอดีตเจ้าอาณานิคมของตน และแม้กระทั่งประเทศที่กำลังพัฒนาจะใช้คำนี้อีกเหมือนกัน เมื่อเกิดความไม่พอใจที่ตนต้องพึ่งพาอาศัยทางเศรษฐกิจต่อประเทศอุตสาหกรรม ในสัมพันธภาพทางการเมืองระหว่างประเทศนั้น เป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีรัฐหนึ่งมีอำนาจและความโดดเด่นมากกว่าอีกรัฐหนึ่ง และสามารถจะใช้อิทธิพลของตนในกิจการทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง ทางทหาร และทางวัฒนธรรมของอีกรัฐหนึ่งได้ แต่ทว่าเพียงการที่รัฐหนึ่งเข้มแข็งกว่าอีกรัฐหนึ่งนั้น มิได้ทำให้เกิดสัมพันธภาพแบบเจ้าจักรวรรดิกับลูกน้องแต่อย่างใด จะเกิดสัมพันธภาพแบบนี้ขึ้นมาได้ ต่อเมื่อรัฐที่เข้มแข็งกว่านั้นใช้กำลังเข้าบังคับทำการสถาปนาการปครองของตนเหนือรัฐที่อ่อนแอกว่า โดยฝืนความรู้สึกของรัฐที่อ่อนแอนั้น แต่ด้วยเหตุที่ศัพท์ว่า"จักรวรรดินิยม" ได้ถูกนำไปใช้กันเสียเปรอะไปหมด ทั้งในแง่ของแรงจูงใจ แง่นโยบาย และแง่สถานการณ์หลากหลาย โดยนักโฆษณาชวนเชื่อและนักเผยแพร่อุดมการณ์ จึงทำให้ศัพท์ ๆ นี้สูญเสียประโยชน์ที่จะนำไปใช้ในการวิเคราะห์การเมืองไปมาก
ทีเดียว

No comments:

Post a Comment

Elephantstay,Thailand,

Elephantstay,Thailand,
Llive,work and play with elephants