Monday, October 19, 2009

Colonialism

ลัทธิล่าอาณานิคม

การปกครองดินแดนและประชากร โดยอำนาจอธิปไตยภายนอก เป็นการดำเนินนโยบายลัทธิจักรวรรดินิยม ในทางประวัติศาสตร์นั้น ลัทธิล่าอาณานิคมนี้มีอยู่หลัก ๆ 2 แบบคือ (1)ลัทธิล่าอาณานิคมที่มีการอพยพผู้คนจากประเทศเมืองแม่เข้าไปเป็นกลุ่มทางการเมืองใหม่ในดินแดนที่ห่างไกลไม่ได้มีพรมแดนติดกับเมืองแม่ และ (2) ลัทธิล่าอาณานิคมที่เข้าไปบังคับใช้กฎเกณฑ์การปกครองเหนือคนพื้นเมืองที่มีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีน้อยในทวีปเอเชียและแอฟริกา ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ตาม จะมีการตั้งอาณานิคมขึ้นมาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการทหาร ความก้าวหน้าทางการเศรษฐกิจและเกียรติภูมิระหว่างประเทศของมหาอำนาจเจ้าอาณานิคมนั้น

ความสำคัญ การต่อต้านสัมพันธภาพระหว่างผู้สูงส่งกับผู้ต่ำต้อย และลัทธิเหยียดผิวที่ปรากฏอยู่ในลัทธิล่าอาณานิคม ได้ก่อให้เกิดลัทธิชาตินิยมขึ้นในหมู่ประชาชนที่ตกเป็นอาณานิคมในทวีปเอเชีย และทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นพลังต่อต้านที่ยากจะต้านทานได้ในการเมืองโลกช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ ได้บ่งบอกออกมาให้คนพื้นเมืองได้เห็นว่าพวกจักรวรรดินิยมผิวขาวไม่มีคุณสมบัติยืนยงคงกระพันติดตัวมาแต่กำเนิดอย่างที่เคยคุยโวโอ้อวดต่อไปแล้ว ประจักษ์พยานในข้อนี้ก็คือการที่กองทัพญี่ปุ่นสามารถมีชัยชนะพวกผิวขาวชาวตะวันตกนี้ในช่วงต้น ๆ ของสงคราม นอกจากนี้แล้วพวกมหาอำนาจล่าอาณานิคมหลายชาติในเอเชียต่างเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าในสงครามครั้งนี้ไปตาม ๆ กัน จึงได้สมัครใจที่จะมอบเอกราชให้แก่อาณานิคมเหล่านี้ หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องยอมให้เอกราชเนื่องเพราะผลมาจากการใช้ความรุนแรงเข้าต่อต้านของพวกคนพื้นเมือง ขบวนการเรียกร้องเอกราชต่างก็ได้เกิดขึ้นโดยมีแรงกระตุ้นมาจากหลักการทั้งหลาย ที่ระบุอยู่ในปฏิญญาว่าด้วยดินแดนที่ยังไม่ได้ปกครองตนเองของกฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งได้ใช้เป็นข้ออ้างเป็นความชอบธรรมที่จะเรียกร้องเอกราช เมื่อถึง ค.ศ. 1960 ได้เกิดชาติใหม่ ๆ ขึ้นมาทำให้สหประชาชาติมีสมาชิกเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นสองเท่าตัว จึงช่วยให้การโจมตีต่อลัทธิล่าอาณานิคมมีพลังเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ในปีเดียวกันนี้เองสมัชชใหญ่สหประชาชาติได้ยอมรับปฏิญญาว่าด้วยการให้เอกราชแก่ประเทศอาณานิคมและประชาชนในอาณานิคมนั้น ๆ และในปีถัดมา สมัชชาฯ นี้ก็ได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการพิเศษว่าด้วยการปลดปล่อยอาณานิคมเพื่อทำให้หลักการเหล่านี้เป็นจริงขึ้นมาให้จงได้ กระแสของขบวนการเรียกร้องเอกราชนี้ได้เริ่มขึ้นในเอเชียแล้วก็ได้ไหลบ่าเข้าสู่ทวีปแอฟริกา เมื่อช่วงปลายทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1950 และในช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ.1960 ซึ่งก็ได้ส่งผลให้มีชาติเกิดขึ้นมาใหม่ในระบบรัฐอีกจำนวนมาก ดินแดนของโปรตุเกส คือ แองโกลา และโมแซมบิก ดินแดนของโปรตุเกส คือ กินี ตลอดจนดินแดนในอาณัติของสันนิบาตชาติ คือ แอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้ (นามิเบีย) ต่างก็ได้ตกเป็นเป้าหมายสำคัญของความพยายามที่จะปลดปล่อยอาณานิคมของสันนิบาตชาติ เมื่อรัฐที่อดีตเคยเป็นอาณานิคมเหล่านี้ มีจำนวนมากเป็นประเทศส่วนใหญ่ในสมัชชาใหญ่ ก็ได้ช่วยกันหันเหความสนใจของสหประชาชาติไปสู่ปัญหาของการพัฒนาทางการเมือง การสังคม และการเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี แนวความคิดเกี่ยวกับลัทธิล่าอาณานิคมแบบใหม่ ที่กลัวว่าชาวตะวันตกจะกลับมายึดอาณานิคมใหม่ได้ก่อให้เกิดการประดักประเดิดในหมู่ประเทศที่เกิดใหม่เหล่านี้ คือ เมื่อประเทศเหล่านี้ต้องการความช่วยเหลือจากอดีตเจ้าอาณานิคมของตน แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการให้อดีตเจ้าอาณานิคมเหล่านี้เข้ามาแทรกแซงในกิจการภายในของพวกตน กระนั้นก็ตาม การเปลี่ยนแปลงคนมากกว่าพันล้านคน และดินแดนอาณานิคมอีกหลากหลาย ให้ได้รับเอกราชและได้เป็นรัฐที่สมบูรณ์แบบนี้ ได้เป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทว่าการได้เอกราของชาติเกิดใหม่เหล่านี้ ก็มักจะเป็นผลให้คนหมู่มากทำการบีบบังคับให้ชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ยอมรับอธิปไตยของรัฐใหม่ไปด้วยโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ปัญหาของคนกลุ่มน้อยที่อยู่ตามรัฐที่เกิดขึ้นใหม่นี้ มีผลกระทบต่อสันติภาพและเสถียรภาพระหว่างประเทศตามส่วนต่าง ๆ ของโลก อย่างเช่น ในตะวันออกกลาง (คือพวกปาเลสไตน์) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (คือพวกเขมร) และในอีกหลายรัฐที่เกิดใหม่ในทวีปแอฟริกา

No comments:

Post a Comment

Elephantstay,Thailand,

Elephantstay,Thailand,
Llive,work and play with elephants