Monday, October 19, 2009

Imperialism, Economic

จักรวรรดินิยมทางเศรษฐกิจ

การผูกพันประเทศหนึ่งเข้ากับเศรษฐกิจของอีกประเทศหนึ่ง เป็นการผูกพันมากถึงขนาดที่จะเป็นอันตรายต่ออธิปไตยของรัฐหลังนั้น จักรวรรดินิยมทางเศรษฐกิจนี้ อาจจะเป็นผลมาจากนโยบายที่ได้จงใจวางขึ้นไว้ หรืออาจจะเนื่องมาจากการไหลเข้าของเงินทุนจากการลงทุนของภาคเอกชนจากต่างประเทศ สหภาพโซเวียตเคยเข้าครอบงำเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปตะวันออกนับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เนื่องจากมีการกระทำผ่านรัฐที่เข้าคุมทุกสิ่งทุกอย่างในรัฐนั่นเอง ส่วนการควบคุมโดยอ้อมนั้น ก็คือ ที่สหรัฐอเมริกาใช้ "การทูตดอลลาร์" ในดินแดนแถบคาบสมุทรคาริบเบียนเมื่อตอนต้น ๆ ของศตวรรษที่ 20 เศรษฐกิจกับจักรวรรดินิยมทั้งสองอย่างนี้มีความสัมพันธ์กันมาโดยมีหลักฐานปรากฏชัดนับตั้งแต่ยุคลัทธิพาณิชยนิยม ทฤษฎีสมัยใหม่ที่ได้รับการพัฒนาเป็นอย่างดีเป็นครั้งแรก คือ ทฤษฎีที่พัฒนาโดยนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ชื่อ จอห์น ฮอบสัน เมื่อ ค.ศ.1902 ในหนังสือของเขาชื่อ จักรวรรดินิยม ฮอบสันได้อธิบายจักรวรรดินิยมในแง่ของการหาตลาดและโอกาสในการลทุนแห่งใหม่ ๆ แนวความคิดของฮอบสันนี้ยังมีอิทธิพลต่อ วี.ไอ เลนิน ในการพัฒนาทฤษฎีของคอมมิวนิสต์ว่าด้วยจักรวรรดินิยมของพวกนายทุน ในหนังสือของเขาชื่อ จักรวรรดินิยม : ขั้นตอนสูงสุดของลัทธิทุนนิยม (1917) เลนิน บอกว่า จักรวรรดินิยมเป็นผลมาจาก "ขั้นตอนในการผูกขาดของทุนนิยม" เขาได้ย้ำด้วยว่า ที่ทุนมีการสั่งสมเพิ่มมากขึ้น ๆ ในประเทศเมืองแม่นั้น ก็เพราะคนไม่ค่อยจะใช้สอยเงินกัน เขาจึงได้สรุปไว้ว่า การแสวงหาตลาดใหม่ ๆ และโอกาสในการลงทุนในแหล่งใหม่ ๆ นั้น จะนำไปสู่จักรวรรดินิยมและสงครามของพวกจักรวรรดินิยม ซึ่งในที่สุดก็จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการล่มสลายของลัทธิทุนนิยมอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้

ความสำคัญ จักรวรรดินิยมทางเศรษฐกิจนี้ มีลักษณะที่มีความละเอียดอ่อนกว่าจักรวรรดินิยมแบบดั้งเดิม ทั้งนี้เพราะจักรวรรดินิยมทางเศรษฐกิจนี้มิได้เกี่ยวข้องกับการเข้าปกครองโดยทางการเมืองจริง ๆ แต่ทว่าผลที่ออกมาอาจจะมีลักษณะคล้าย ๆ กันก็ได้ เพราะว่าเมื่อรัฐที่อ่อนแอกว่าจำต้องพึ่งพาทางเศรษฐกิจต่อรัฐที่เข้มแข็งกว่ามากขึ้นเท่าใด รัฐที่อ่อนแอนั้นก็ยากที่จะต้านทานการเรียกร้องทางการเมืองของรัฐที่เข้มแข็งกว่ามากยิ่งขึ้นเท่านั้น แต่ถ้าหากรัฐที่อ่อนแอกว่านั้นยังมีสิทธิในการเวนคืน (อสังหาริมทรัพย์) และสิทธิในการขับไล่ต่างชาติอยู่ ก็ยากที่จะดำรงจักรวรรดินิยมทางเศรษฐกิจนี้ไว้ได้ หมู่ประเทศที่กำลังพัฒนาต่างก็ต้องการเงินลงทุนจากแหล่งเงินทุนต่างประเทศจำนวนมาก ๆ ด้วยกันทั้งนั้น แต่ทว่าประเทศเหล่านี้ต่างก็เคยมีสถานภาพเคยตกเป็นเมืองขึ้นมาแล้วทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจึงต่างกลัวเป็นอย่างยิ่งว่าจะถูกต่างประเทศเข้าควบคุมและเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจเหมือนเมื่อครั้งอดีต มีหลายประเทศได้พยายามหลีกเลี่ยง"เงื่อนไข" ที่ติดมากับเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าและเงินกู้แบบทวิภาคีอันจะมีผลกระทบต่ออธิปไตยของชาตินี้ โดยวิธีหันไปขอความช่วยเหลือผ่านทางองค์การการเงินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือผ่านทางองค์การต่าง ๆ ของสหประชาชาติ

No comments:

Post a Comment

Elephantstay,Thailand,

Elephantstay,Thailand,
Llive,work and play with elephants